พุธเสวนา การศึกษาไทยในมุมกลับ "การศึกษาเพื่อความเป็นไท(ย)"

ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จัดการเสวนาการศึกษาไทยในมุมกลับ "การศึกษาเพื่อความเป็นไท(ย)"
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
ณ ห้อง EB4509 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่








Part 1





Part 2





ศ.เกียรติคุณ สายชล สัตยานุรักษ์ ภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในหัวข้อ “การศึกษากับการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทย” ว่า การศึกษาของไทยที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดของรัฐไทยในการตกแต่งนิสัยใจคอของคนในชาติ เพราะการตกแต่งนิสัยใจคอของคนในชาติจะทำให้การปกครองเป็นไปได้อย่างสะดวกราบรื่น ไม่ต้องใช้ความรุนแรง และเมื่อคนในรัฐผ่านการตกแต่งนิสัยใจคอผ่านการศึกษา ก็จะมีพฤติกรรมเหมาะสมตามที่รัฐต้องการ เช่น ทำตามรัฐนิยมของจอมพลป. หรือทำตามค่านิยม 12 ประการของรัฐทหารในปัจจุบัน

“คนที่ถูกตกแต่งนิสัยใจคอแล้วจะมีความรู้สึกนึกคิดในกรอบที่รัฐกำหนด จะคิดเองไม่เป็น จะมองความจริง ความดี ความงามแบบที่รัฐสอนให้มอง จะอธิบายปัญหาและมองเห็นทางเลือกการแก้ไขปัญหาในแบบที่รัฐต้องการ”

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาทำให้รัฐสามารถทำการปกครองความรู้สึกนึกคิดของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือสามารถบงการคนได้โดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับ ซึ่ง มิเชลฟูโก เรียกว่า “governmentality”  อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวาแปลว่า “การปกครองชีวญาน” อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ แปลว่า “การปกครองหัวใจ” หากดูจากคำภาษาไทยจะเห็นว่า มันทำให้เราทำสิ่งต่างๆ จากภายใน จากความรู้สึกนึกคิด จากจิตใจของเราที่อยากจะทำ เพราะว่าเราถูกหล่อหลอมกล่อมเกลา ถูกตกแต่งนิสัยใจคอให้เชื่อในสิ่งที่รัฐอยากให้เราเชื่อ คิดอย่างที่รัฐอยากให้เราคิด

เราจะเห็นได้ว่าการศึกษาสมัยใหม่ของไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5  เป็นต้นมา จะมีบทบาทสูงมากในการตกแต่งนิสัยใจคอของคนไทย โดยปลูกฝังความรู้และความจริงเกี่ยวกับ “ความเป็นไทย”
คงทราบกันมาบ้างแล้วว่าความเป็นไทยไม่ใช่มรดกทางวัฒนธรรมจากสมัยโบราณที่ตกทอดมาถึงเราอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะรัฐโบราณมีหลากหลายชาติพันธุ์ และไม่ได้พยายามทำให้ชาติพันธ์ุเหล่านั้นเป็นไทย แต่ใช้ชุมชนชาติพันธุ์เป็นฐานในการปกครอง “อาณาประชาราษฎร” ทั้งในระบบไพร่และนอกระบบไพร่ เช่น ถ้าเป็นชาติพันธ์ุมอญจะอยู่ในระบบไพร่ที่มีมูลนายเป็นมอญ เป็นต้น ดังนั้นก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 จึงไม่มีการเน้นความเป็นไทย เพราะรัฐก่อนหน้านั้นเป็นรัฐราชาธิราชที่อำนาจกระจายไปในมือของผู้นำตระกูลท้องถิ่นในหัวเมืองต่างๆ จึงไม่ต้องสร้างสำนึก ความเป็นชาติไทยที่มีเอกราชบนรากฐานของความเป็นไทย

จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงเริ่มมีการเกิดสำนึกแบบรวมศูนย์อำนาจและสำนึกเรื่องไทยที่มีเอกภาพ แต่ก็ยังไม่ได้มีการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยแบบมีรายละเอียดชัดเจน เพราะยังไม่เกิดรัฐที่รวมศูนย์อำนาจจริงๆ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปการปกครอง เกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาแล้วถึงมีความจำเป็นต้องสร้างความหมายชาติไทยและความเป็นไทยอย่างจริงจังเต็มที่
ความหมายของชาติไทยและความเป็นไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา แต่สุดท้ายก็มีการผลิตซ้ำความหมายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงทำให้ความหมายชาติไทย ความเป็นไทยที่ถูกสร้างในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีพลังอย่างสูงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ชาติไทยและความเป็นไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา หมายถึงชาติ ที่คนในชาติมีความเป็น “ไทย” คนที่มีความเป็นไทย คือคนที่รับสิ่งที่ชนชั้นนำเลือกสรรมาให้ เช่น การปกครองแบบไทย ซึ่งรัชกาลที่ 5 ให้ความหมายว่า การเอาพระราชดำริเป็นประมาณ เอาพระราชโองการเป็นหลักในการปกครอง แล้วสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาให้ความหมายที่ชัดขึ้นว่า การปกครองแบบไทย คือการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พ่อมีอำนาจเหนือลูก ความคิดของพ่อจะใช้เป็นหลักในการปกครอง ฉะนั้น ผู้นำในการปกครองแบบไทย คือ พระมหากษัตริย์ที่เป็น “พระปิยมหาราช” เป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองประชาชนเพื่อประชาชน เป็นพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนรัก

สำหรับพระพุทธศาสนาแบบไทยก็จะถูกสร้างความหมายให้เป็นแนวความคิดแบบหนึ่งที่จะตอบสนองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความมั่นคงชาติไทย สิ่งที่ถูกเน้นในการสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาทั้งหลายสมัยร.5 เป็นต้นมา คือ คุณธรรมไทย ศีลธรรมไทย
อีกอย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องหมายของความเป็นไทยที่ถูกเน้นอย่างมาก คือ ภาษาไทย ศิลปะไทย มารยาทไทย ฯลฯ ภาษาไทยเป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อสอนในโรงเรียนรวมทั้งในการสอนพระปริยัติธรรมตามวัดต่างๆด้วย

ตัวอย่างที่เราเห็นมากที่สุด คือ การปลูกฝังความรู้ และความจริง เกี่ยวกับอดีตของชาติไทย หรือประวัติศาสตร์ไทย ให้คนไทยได้จินตนาการถึงชาติไทยที่เป็นชาติเก่าแก่ ยิ่งใหญ่เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ เพราะว่ามีผู้นำที่ปรีชาสามารถ เราจึงจะได้เรียนเรื่อง พ่อขุนรามคำแหง พระเจ้าอู่ทอง พระนารายณ์ สมเด็จพระนเรศวร เรื่อยมาจนถึงผู้นำในยุคหลังๆ ว่าได้นำพาชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองรักษาเอกราชไว้ได้

“คนไทยที่ถูกปลูกฝังความรู้ผ่านประวัติศาสตร์แบบนี้ก็จะให้ความสำคัญอย่างสูงแก่ผู้นำ เกิดความรักชาติ เห็นว่าชาติหรือเอกราชของชาติสำคัญยิ่งกว่าชีวิตของตัวเอง และก็พร้อมที่จะเสียสละเพื่อชาติแบบเดียวกับพระศรีสุริโยทัย พระนเรศวร บางระจัน ท้าวสุรนารี แต่จะไม่ได้นึกถึงชาติในแง่ของประชาชน”
ศ.สายชล กล่าวอีกว่า การศึกษายังถูกใช้เพื่อปลูกฝังความดีที่คนไทยควรยึดถือ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นความดีแบบพุทธศาสนาโดยอาจจะเรียกว่า “คุณธรรมไทย” “ศีลธรรมไทย” “ค่านิยม 12 ประการของไทย” “จริยธรรมไทย” ที่ทำให้เห็นว่าความดีดังกล่าวเป็นธรรมะทางพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติ เช่น การทำหน้าที่ ความสามัคคี การเสียสละ การเชื่อฟัง ความกตัญญูกตเวที ฯลฯ การศึกษาของเราจะไม่ค่อยปลูกฝังคุณธรรมค่านิยมในระบอบประชาธิปไตย เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม ความเสมอภาค

สำหรับความงามที่ถ่ายทอดปลูกฝังผู้เรียนผ่านการศึกษามีมากมาย เช่น ศิลปะไทยแขนงต่างๆ การร้อยดอกไม้ มารยาทไทย การกราบ การไหว้ การรู้ที่ต่ำที่สูง การแต่งกายแบบไทย อันนี้เป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาของเราปลูกฝัง

การเรียนภาษาไทยและวรรณคดีไทยจะมีความสำคัญเป็นพิเศษ อาจเรียกได้ว่าควบคู่กับประวัติศาสตร์ไทย คือจะถูกใช้เพื่อปลูกฝังความเป็นไทยในทุกด้าน การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องจะถูกเน้นมากที่สุด เพราะว่าถ้าเราใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องแล้ว จะหมายถึงการยอมรับระบบความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ผู้น้อย การรู้ที่ต่ำที่สูง ลองพิจารณาถึงคำราชาศัพท์จะทำให้เรารู้เลยว่า ใครที่เราจะเรียกท่านว่า ฝ่าพระบาท  ฯพณฯท่าน คุณ ฯลฯ หรือหากลองพิจารณาคำว่า “กิน” ก็จะมีการใช้คำหลายประเภท เช่น ทาน รับประทาน เสวย ฉัน ซึ่งใช้โอกาสแตกต่างกันไปตามสถานะ  เมื่อเราเรียนวรรณคดีไทย เราก็จะถูกสอนว่า ถ้าขึ้นต้นด้วยเมื่อนั้น หมายถึงว่ากำลังบรรยายถึงกษัตริย์ ถ้าเป็นบัดนั้นกำลังบรรยายถึงขุนนาง ฯลฯ ความซาบซึ้งในวรรณคดีไทยก็จะหมายถึงความชื่นชมในระบบคุณค่า ความดี และความงามที่วรรณคดีมอบให้ เช่น ความงามอย่างประณีตอ่อนช้อย คนที่ครอบครองสิ่งของที่งามอย่างประณีตอ่อนช้อยจะไม่ใช่ประชาชนทั่วไปแต่จะหมายถึงชนชั้นสูงที่ประณีตอ่อนช้อยมาก เพราะฉะนั้นความงามความดีแบบนี้จะทำให้เรายอมรับการแบ่งชั้นทางสังคม โดยที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงาม คนที่ไหว้สวย กราบเป็น มารยาทไทยงาม คือ คนที่ยอมรับการแบ่งชั้นทางสังคมอย่างไม่ตั้งคำถาม

“การศึกษาที่ปลูกฝังความเป็นไทยทั้งหลายล้วนแต่ทำให้เกิดการยอมรับสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นและยังหมายรวมไปถึงการยอมรับโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจ คือ ถ้าไม่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นก็จะไม่มีใครที่มีสถานะพิเศษที่มีอำนาจเหนือคนอื่น แต่ถ้ายอมรับการแบ่งคนเป็นลำดับชั้น เราก็จะยอมรับให้คนบางคนเป็นผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด ยอมรับให้กับคนที่เป็นข้าราชการหรือตุลาการที่มีสถานะสูงกว่าเรา”

“ประวัติศาสตร์ไทยทำให้เราเชื่อในความสำคัญของผู้นำ และก็เป็นผู้นำแบบไทย เราเชื่อในการปกครองของผู้นำที่มีอำนาจเข้มแข็งเด็ดขาด เราจะไม่ค่อยอยากให้มีการเมืองในสังคมไทย เราอยากให้มีผู้นำเก่งๆเป็นคนดี มีความเมตตาเอื้ออาทร แม้แต่คนเสื้อแดงก็ยังยอมรับสโลแกนทักษิณคิด เพื่อไทยทำ เราให้ความสำคัญเยอะมากจนไม่ค่อยเห็นถึงความสำคัญภาคสังคม”

หน้าที่พลเมืองและศีลธรรมไทยทำให้เราไม่นึกถึงสิทธิของเราที่จะไปจำกัดตรวจสอบการปกครอง เราจะไม่ยอมรับคนที่ออกไปทำอะไรนอกเหนือหน้าที่ของตนเอง เช่น นักเรียนนักศึกษามีหน้าที่เรียนก็เรียนไปไม่ควรจะไปยุ่งกับการเมือง

การศึกษาที่ผ่านมามุ่งให้คนไทยคิดในกรอบ ไม่สอนให้คิดนอกกรอบ คนที่คิดในกรอบจะได้คะแนนมาก จึงทำให้เราคิดเองไม่เป็น ขาดทัศนะวิพากษ์ มีวิธีคิดแบบเดียว ทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ จากวิธีคิดแบบเดียว การศึกษาไม่เอื้อให้เรามีวิธีคิดแบบอื่นนอกเหนือจากวิธีคิดที่อยู่ในกรอบของความเป็นไทย
“เราสอนให้ท่องจำประวัติศาสตร์ที่เน้นบทบาทของผู้นำ ท่องจำกฎเกณฑ์ของภาษาไทย ท่องจำชื่อตัวละคร เราจึงขาดจินตนาการ ขาดความสามารถที่จะคิดแบบเชื่อมโยง ซึ่งเมื่อมาประกอบกับทุนนิยมที่ทำให้เราประกอบอาชีพแบบแบ่งงานกันทำแล้ว เราก็ถูกจัดระบบการศึกษาให้เราเรียนความรู้แบบแยกเป็นส่วนๆ เช่น บางคนเรียนภาษาไทย บางคนเรียนวิทยาศาสตร์(ซึ่งแบ่งย่อยลงไปอีก) บางคนเรียนหมอก็จะเชียวชาญเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งมันก็จะทำให้เรารู้แต่เรื่องที่เราเรียนมาโดยตรง ไม่ค่อยรู้หรือสนใจเรื่องอื่นๆ เราจึงเชื่อมโยงความรู้ไม่เก่ง พอมีปัญหาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเราโดยตรงเราก็จะไม่เข้าใจมัน แก้ปัญหาไม่ได้ จึงเห็นปรากฏการณ์ที่คนไปพึ่งหมอดูหรือลัทธิพิธีต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการสบายใจขึ้น”
การอธิบายเรื่องต่างๆ ของคนไทยจะอยู่ในกรอบของความเป็นไทยมากๆ เช่น ถ้าเรามีปัญหาสังคมขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น ปัญหาท้องก่อนแต่ง หรือปัญหาอะไรก็ตามเราก็จะอธิบายปัญหาง่ายๆว่าเป็นเพราะเราละทิ้งวัฒนธรรมไทย หันไปรับวัฒนธรรมต่างชาติ เราก็เลยมีปัญหา เรามักจะอธิบายปัญหาเชิงศีลธรรม ไม่ค่อยมองปัญหาเชิงระบบหรือโครงสร้าง  เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและคอรัปชั่นก็จะอธิบายสาเหตุว่ามาจากความเห็นแก่ตัว  ปัญหายาเสพติดก็ถูกอธิบายว่าพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่จึงทำให้ลูกติดยาเสพติด ปัญหาความจนก็จะถูกอธิบายว่าจนเพราะขี้เกียจ ไม่มีความเพียร เป็นต้น โดยเชื่อว่าถ้ายึดมั่นในศีลธรรมของพระพุทธศาสนาแล้วปัญหาจะไม่เกิด จึงทำให้เราไม่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาชีวิตและปัญหาทางสังคม และนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองด้วย เพราะว่าความเป็นไทยแบบที่เราเน้น มันทำให้เรายอมรับความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นประชาธิปไตย การเน้นผู้นำก็เห็นได้ชัดว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องให้ความสำคัญกับ “มติมหาชน” จริงๆ อำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน ผู้นำจะทำอะไรจะต้องเกิดจากความอยากให้ทำของประชาชน

“เราจะเห็นเรื่องการแบ่งชั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงาม เพราะฉะนั้นจึงเกิดความเหลื่อมล้ำในอำนาจและทรัพย์สินสูงและเป็นรากฐานของความขัดแย้งและความรุนแรง”

เราอยู่กับ “ความเป็นไทย” ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำมาเป็น 100 ปี ซึ่งสังคมไทยในปัจจุบันกับสมัยก่อนนั้นแตกต่างกันมาก เราอยู่ในโลกของอินเตอร์เน็ต หรือบางคนเรียกสังคมปัจจุบันว่าเป็นหมู่บ้านโลก เราจะอยู่ในสังคมปัจจุบันอย่างไร ข้อเสนออันหนึ่ง คือ การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเป็นไท ที่ไม่มี “ย” เราควรเสริมสร้างความอิสระ ซึ่งจะเป็นอิสระได้ก็ต่อเมื่อเรามีจารีตทางความคิด ความรู้แบบใหม่ที่คนไทยจะมีวิถีชีวิตแบบปัญญานิยมบนฐานของความรู้แบบปลดปล่อย ปลดปล่อยให้หลุดจากความรู้ครอบงำแบบเดิม เพื่อให้เรามีศักยภาพที่จะมองปัญหาหรือปรากฏการณ์ต่างๆจากหลายมุมมอง เราควรเรียนรู้จากมุมมองหลายแบบ แล้วมีทัศนะวิพากษ์บนฐานของความรู้ที่กว้างขวางหลากหลาย เราควรจะถูกฝึกให้เชื่อมโยงความรู้ได้เก่ง ถูกฝึกให้คิดเองเป็นไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ

นอกจากวัฒนธรรมทางความรู้ที่จะต้องเปลี่ยนแล้ว วัฒนธรรมทางจิตใจของเราก็ควรจะเปลี่ยนด้วย จิตใจแบบเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปลูกฝัง “ความเป็นไทย” ให้เรา ทำให้เราเชื่อฟัง รู้ที่ต่ำที่สูง รักพวกพ้องอย่างไม่คำนึงถึงเหตุผล เราควรมีวัฒนธรรมทางจิตใจแบบใหม่ที่ระบบการศึกษาควรหาทางสร้างขึ้นมา คือ มีจิตสาธารณะทำอะไรก็นึกถึงผลประโยชน์ที่จะตกแก่คนอื่นมากกว่าตนเอง นึกถึงผลเสียที่จะตกแก่คนอื่นตกแก่สังคมส่วนรวมมากกว่าแก่ตัวเรา เราควรจะเสริมสร้างความรู้สึกรักความเป็นธรรม เป็นคนใจกว้างมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ยึดมั่นในอารยะวิถีและสันติวิธี สามารถอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างหลากหลายอย่างสงบสันติ

การศึกษาควรทำให้เราสำนึกในสิทธิและหน้าที่ในความหมายใหม่ เช่น สิทธิและหน้าที่ที่จะแสวงหาความรู้แบบปลดปล่อย และความรู้ที่กว้างขวางหลากหลายจากมุมมองที่แตกต่างเพื่อให้พลเมืองไทยสามารถใช้สิทธิและหน้าที่ต่อส่วนร่วมอย่างฉลาดและสร้างสรรค์ ร่วมถึงสิทธิและหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทุน และสื่อ คือมันไม่ใช่แค่สิทธิการเลือกตั้งอย่างเดียว ก่อนจะหย่อนบัตรต้องมีความรู้มากพอที่ว่าเมื่อเลือกพรรคนี้จะมีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างไร ผลระยะสั้นเป็นอย่างไร ผลระยะยาวเป็นอย่างไร ฉะนั้นสิทธิและหน้าที่แบบใหม่จึงอยู่บนฐานของความรู้ด้วย แล้วไม่ได้เน้นแต่เฉพาะรัฐเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงทุนและสื่อมวลชนด้วย

“เรื่องของทุนเราเข้าใจมันน้อยเนื่องจากการศึกษาที่ได้รับมา เราไม่ค่อยตระหนักในปัญหาที่เกิดจากทุน เช่น ปัญหาหมอกควัน เราจะรู้ไหมว่า เกษตรพันธะสัญญามีส่วนทำให้คนเผาเพิ่มมากขึ้นมากแค่ไหน จนทำให้หมอกควันกระจายกระทบต่อเรามากน้อยแค่ไหน”

ประเด็นสุดท้าย การศึกษาควรเสริมสร้างคนไทยให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ว่าจะเรียนแต่มนุษยศาสตร์ที่แยกเป็นวรรคดี ภาษาไทย หรือเป็นวิชา ก็พอแล้ว แต่การเรียนวิชาอะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม ควรจะมีมิติของมนุษยศาสตร์อยู่ในนั้น เพื่อจะได้เข้าใจมิติของความเป็นมนุษย์ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับศาสตร์ที่ตัวเองเรียน เพื่อจะเห็นและเข้าใจคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักในความเท่าเทียมกันที่ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ซึ่งมันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความหมายความเป็นไทยหรือวัฒนธรรมความเป็นไทยที่มีความเสมอภาค และทำให้เราปฏิเสธการใช้ความรุนแรง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะทำได้อย่างไร ขอยกตัวอย่างเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งควรจะทำให้ผู้เรียนเห็นว่าความรู้ หรือความจริงเกี่ยวกับอดีตมองได้หลายแบบ มองแบบมาร์กซิสต์ก็ได้ มองแบบ Subaltern (มองในมุมกลุ่มคนด้านล่าง)ก็ได้ มองแบบโพสต์โมเดิร์นก็ได้ มองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับบริบท ฯลฯ เราต้องฝึกฝนให้นักเรียนมองต่างมุมได้เก่งซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคนที่คิดต่างได้มากขึ้นด้วย

ภาษาและวรรณคดีไทยนอกจากจะสอนการใช้ภาษาที่ถูกต้องแล้วก็ควรจะทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานภาษา และควรจะทำให้เห็นความหมายทางการเมืองของภาษาของวรรณคดีด้วย อย่างเช่น คำว่า “กรรมกร” ทำไมถึงไม่ถูกใช้ในการจัดงานวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี แต่ใช้คำว่า “แรงงาน” แทน หรือทำไมจึงเลือกใช้คำว่า “มลภาวะ” แทนที่จะใช้คำว่า “มลพิษ” ซึ่งทั้งสองคำจะเห็นได้ว่า รัฐจงใจใช้คำที่ดูเบากว่า เพื่อให้เกิดความสบายใจหรือไม่ดูพุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่ได้ประโยชน์

สำหรับวรรณคดี เราควรจะทำให้เด็กเห็นว่าทำไมรามเกียรติ์ถึงสำคัญมากในวัฒนธรรมไทย ทำไมวันทองสองใจ แล้วผิดมากขนาดนั้นหรือไม่ แล้วสองใจในบริบทของวันทองน่าเห็นอกเห็นใจหรือน่าลงโทษกันแน่  ทำไมสุนทรภู่แต่งให้สินสมุทรมีเมียหลายชาติภาษาโดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอายอะไร ทำไมบทอัศจรรย์ของชนชั้นสูงกับชาวบ้านนั้นต่างกัน ทำไมคนไทยนำเรื่องสามก๊กมาแต่งซ้ำหลายครั้ง ทำไมกุหลาบสายประดิษฐ์ให้คุณหญิงกีรติมีชีวิตแบบนั้น คือ มีอายุมากกว่านพพร เป็นเมียขุนนางที่ตายโดยไม่มีคนรักแต่ก็ยังภูมิใจที่มีมีคนที่ฉันรัก ทำไมมาลัยชูพินิจเขียนเรื่องความรักสามเส้าแต่ตั้งชื่อว่าแผ่นดินของเรา ฯลฯ อันนี้เป็นสิ่งที่เราฝึกคิดกับมันได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องวรรคดี แต่เรื่องศิลปะ การแสดงต่างๆ ด้วย เป็นต้นว่าเราอาจตั้งคำถามว่าทำไมอาจารย์คึกฤทธิ์ถึงฝึกโขนธรรมศาสตร์

“การจะสร้างความเป็นไท หรืออิสรภาพในการคิดให้แก่ผู้เรียนได้จะต้องมีหลักสูตรศึกษาศาสตร์ที่หลุดพ้นจากอนุรักษ์นิยม เป็นหลักสูตรที่สร้างครูพันธุ์ใหม่ที่แท้จริง ครูต้องคิดเองเก่งถึงจะสอนให้คนอื่นคิดเองเก่งได้ ครูต้องมีความรู้กว้างขวางก่อนถึงจะคิดเองเก่ง ฉะนั้นต้องติดตามความรู้ทั้งเก่าทั้งใหม่ทัน เห็นว่าพรมแดนความรู้ที่ตนเองสอนไปถึงไหนแล้ว และต้องมีทัศนะวิพากษ์ถึงจะสอนให้คนอื่นมีทัศนะวิพากษ์ได้”

ความเป็นไทยยังสำคัญมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควรให้นักเรียนมีความเป็นไทยแบบที่มี “ย” และความเป็นไทยแบบไม่มี “ย” ไปพร้อมกัน แต่ความเป็นไทยแบบมี “ย” นั้นควรจะมีความหมายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่เราควรจะช่วยกันคิดให้ความหมายของความเป็นไทยเหมาะแก่ชีวิตของไทยในปัจจุบันและอนาคตแทนความหมายความเป็นไทยที่เรายังยึดอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

เราไม่ควรจะเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐเท่านั้นแต่ควรจะอิสระจากการครอบงำของกลุ่มทุนด้วย เช่นอะไรคือความสวยของผู้หญิง ความสวยจำเป็นที่ทำให้เราต้องผ่าตัดศัลยกรรม ลดน้ำหนัก หรือไม่ อะไรคือความสวยเราควรจะนิยามมันได้ด้วยตัวเอง อะไรคือชีวิตที่ดี เราควรนิยามชีวิตของเราเองไม่ให้กลุ่มทุนมานิยามให้

“ความดี ความงามที่การศึกษามอบให้ควรทำให้คนไทยสามารถมีชีวิตที่มีคุณค่าสูงส่งขึ้นด้วย ไม่ใช่ความดีความงามแบบที่ทำให้เรายึดติดความมั่นคงของรัฐแบบเดิม”

“การศึกษาเพื่อความเป็นไท และความเป็นไทยจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันครุ่นคิดอย่างจริงจังหากต้องการปฏิรูปการศึกษา”


เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตเลขานุการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท  เล่าประสบการณ์จากการพยายามสร้างความเป็นไทในโรงเรียนว่า ตนเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ต้องการจะสร้างความเป็นไทให้แก่ตนเองตั้งแต่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่สอง ซึ่งขณะนั้นทำนิตยสารที่ชื่อว่า “ปรีดี” เพื่อตอบโต้การสอนของครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ในขณะนั้น ที่สอนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ มีการกล่าวให้ร้ายปรีดีพนมยงค์ในทางที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

“ผมพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน เพราะเชื่อว่าคนทุกคนเป็นมนุษย์และเท่าเทียมกัน ทุกคนเป็นกัลยานิมิตรในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเริ่มเรียกร้องอะไรบางอย่างก็พบว่าไม่เป็นไปตามที่ตนเองคิด”

เมื่อตอนที่โรงเรียนตรวจผมนักเรียน และจับนักเรียนตัดผม ตนจึงได้เขียนบทความวิจารณ์ในวารสาร แล้วถูกเรียกเข้าห้องปกครอง 5 ชั่วโมง เพราะมีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อโรงเรียน

“ผมเกลียดโรงเรียนมากในตอนนั้น เพราะมันไม่ตอบสนองอะไรเราเลย เรียนก็เหมือนปศุสัตว์ ผมไม่ได้มีปัญหาเรื่องการมีกฎระเบียบ แต่กฎระเบียบมันไร้เหตุผล”

พออยู่มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตนมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น และคิดจะออกจากโรงเรียนไปอยู่โรงเรียนเตรียมอุดม แต่เนื่องจากสอบไม่ติดจึงกลับมาอยู่โรงเรียนเดิม แต่คราวนี้กลับมาด้วยทัศนะใหม่ คือ หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้มีความเป็นไทเกิดขึ้น ต้องเริ่มจากที่ตัวเราก่อน ต้องกล้าที่จะยอมรับว่าเรามีความกลัวในใจ และคนอื่นก็มีความกลัวเช่นเดียวกับเรา ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียน เราต้องเห็นอกเห็นใจกัน และคิดว่าเป็นสิ่งแรกที่จะนำไปสู่การศึกษาเพื่อความเป็นไท จึงทำให้เห็นช่องทางการเปลี่ยนแปลงว่าต้องเริ่มด้วยการสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น เลยเข้าอาสาสมัครไปเป็นกรรมการนักเรียน แต่ปรากฏว่าถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นคณะกรรมการนักเรียน

ต่อมาเมื่อตนอยู่ชั้นม.5 จึงสมัครเป็นประธานนักเรียนและได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน แต่เป็นได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็ถูกไล่ออก เพราะว่าตนต้องการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และมีนโยบายคือ ถ้านักเรียนอยากได้อะไรให้เขียนมา ซึ่งครูบาอาจารย์ก็กลัวเป็นอย่างมาก จึงถูกไล่ออกด้วยข้อหาไม่ไปเลือกตั้ง

ในส่วนที่ตนทำนั้น คือ พยายามจะสร้างพื้นที่ให้นักเรียนกับครูได้คุยกัน และทำให้เห็นว่าต้องขยายพื้นที่นี้ออกไปให้มากที่สุด

เนติวิทย์ กล่าวอีกว่า การศึกษาเพื่อความเป็นไทนั้นไม่ได้เป็นเทคนิควิธีที่บอกว่าควรจะทำอย่างไร แต่เป็นความคิดที่จะต้องเริ่มจากการสำรวจตัวเอง ซึ่งธรรมชาติของแต่ละคนมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป แต่ละคนมีด้านดีแตกต่างกัน ต้องดึงศักยภาพเหล่านี้ออกมาใช้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างการศึกษาที่มีความเป็นไท

การศึกษาเพื่อความเป็นไทแตกต่างจากการศึกษาเพื่อความเป็นทาสที่เน้นให้เราจมปลักอยู่กับความกลัวในเรื่องต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอื่นๆ เช่น กลัวการพูดความจริง เราจึงต้องสำรวจตัวเราเองและก้าวข้ามความกลัวไปให้ได้

การศึกษานั้นเป็นผลผลิตจากการเมือง ในขณะเดียวกันการเมืองก็เป็นผลผลิตจากการศึกษา การศึกษาผลิตคนรับใช้ระบอบการเมือง การเมืองก็พยายามกำหนดอนาคตคนรุ่นต่อไปผ่านการศึกษา เมื่อครูเห็นอย่างนี้แล้วก็จะมองแค่ว่าโรงเรียนเป็นสถานที่บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ได้ เพราะครูก็อยู่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งการเมืองเช่นกัน นักเรียนก็อยู่ในพื้นที่ที่เป็นการเมืองเหมือนกัน ไม่ได้หนีพ้นไปจากการเมืองเลย
แต่ในปัจจุบันอาจารย์ ครูและนักเรียนกลับถูกปิดไม่ให้แสดงความเห็นทางการเมืองออกมาได้ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการสร้างการศึกษาเพื่อความเป็นไท เพราะเราไม่เคยยอมรับว่าเราอยู่ในพื้นที่อันหนึ่งซึ่งถูกครอบงำทางการเมือง

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาเพื่อความเป็นไทเริ่มจากการทบทวนว่าตัวเองนั้นมีนิสัยใจคออย่างไร และเราสัมพันธ์กับสภาพสังคมภายนอกอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเรามาพิจารณาส่วนนี้แล้วการวัดและประเมินผลแบบอุตสาหกรรมนั้นก็ทำไม่ได้อีกต่อไปเพราะเรากลับเข้ามาหาความเป็นมนุษย์ กลับเข้ามาหาจิตใจ และอารมณ์ของแต่ละบุคคล

“เราอาจจะต้องถามคำถามเพิ่มไปอีกด้วย เช่น โฆษณาชวนเชื่อที่ปลูกฝังผ่านทีวีและสื่อมวลชนมีปัญหาหรือไม่ เกี่ยวกับความรุนแรงอย่างไร การเคารพธงชาติที่ปลูกฝังให้สละเลือดเนื้อนั้นมีส่วนในการปลูกฝังสร้างความรุนแรงหรือไม่ ระบบโซตัสมีส่วนปลูกฝังความกลัวและอำนาจนิยมหรือไม่ และส่งผลต่อวิธีคิดของเราอย่างไร กฎระเบียบต่างๆที่ดูไม่นำพามาเรื่องการใช้เหตุผลหรือการบีบคั้นครูผ่านการประเมินผลและไม่แม่นยำนำพาไปสู่ความไร้เหตุผลและความรุนแรงอย่างหนึ่งหรือไม่ การบังคับให้เกณฑ์ทหารและเอาระบอบทหารมาไว้ในโรงเรียนเช่น รด.เป็นปัญหาหรือไม่เกี่ยวพันกับการใช้อำนาจนิยมและความรุนแรงหรือไม่ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ที่อภิมหาบรรษัทบนโลกควบคุมทรัพยากรแทบทั้งหมดเป็นปัญหาต่อวิธีคิดของเรา ต่อระบอบการศึกษาหรือไม่อย่างไร คำถามเหล่านี้จะนำไปสู่การศึกษาเพื่อความเป็นไท”

ตอนนี้ตนกำลังสร้างการศึกษาเพื่อความเป็นไทในพื้นที่ของตนเองโดยจัดการฉายหนังและเสวนาภายในโรงเรียน นอกจากนี้ยังเขียนจดหมายตักเตือนผู้อำนวยการของตนเองอยู่เป็นนิจ ถึงแม้ไม่ได้รับการตอบสนอง แต่ก็เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ เราสามารถคุยกันได้ เพราะเราต่างเป็นกัลยาณมิตรคอยตักเตือนในสิ่งที่ผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องอะไรที่น่ากลัว และตอนนี้เริ่มมีการทำเช่นนี้ในโรงเรียนมากขึ้นด้วย

“แม้ขณะนี้ระบบในโรงเรียนจะแย่เพียงใด แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นช่องว่างเล็กๆในการสนทนาของครู นักเรียน และผู้บริหารได้”

นอกจากนี้ เราจำเป็นที่จะต้องสร้างสะพานไปสู่การศึกษาเพื่อความเป็นไท จำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆในการต่อสู้เรียกร้อง เป็นไปได้ไหมที่เราจะเริ่มมีการชี้วัดโรงเรียนที่มีความสุข มีความเป็นมนุษย์ แทนการประเมินโรงเรียนที่มีผลสอบได้มาก และที่สำคัญเราจะขยายการศึกษาเพื่อความเป็นไทไปสู่ระดับอุดมศึกษาและระดับอาเซียนได้อย่างไร

“การศึกษาเพื่อความเป็นไทจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคมขณะนี้ ซึ่งปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดของประชาชน ที่พูดมาทั้งหมดนี้จะเหลวไปทันที ถ้าเรามองข้ามเรื่องการสร้างสังคมประชาธิปไตยซึ่งเป็นพันธกิจของพวกเราทั้งหมดในการต่อสู้เรียกร้องมาอย่างสันติวิธี”

“สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ หลายคนอาจเห็นเป็นเรื่องสูงส่ง เกินเลย หรือเพ้อฝัน แต่การเป็นมนุษย์นั้นเราจำเป็นต้องมีความฝันและเป้าหมายที่จะนำไปสู่หนทางนั้นมิใช่เหรอ เราเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์สังคมในขณะเดียวกันเราก็เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์และสังคมด้วย”.


Source เนื้อหาการเสวนา http://prachatham.com/article_detail.php?id=252