กลุ่มพลเรียน Eduzen-Thai
ร่วมกับ เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ
และศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ร่วมกับ เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ
และศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จัดการเสวนาเรื่อง "การศึกษา ทางเลือก ฤา ทางรอด"
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558 เวลา 13.00 - 16.00 น.
ณ ห้อง EB 4510 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ณ ห้อง EB 4510 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะวิทยากร
- บุญเสริญ สุริยา
ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
- บุญเอนก มณีธรรม
ผู้อำนวยการโรงเรียนต้นกล้า
- ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
เลขาธิการสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย
ดำเนินรายการโดย
- อ.ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ประเด็นการเสวนา (ขอบคุณรายงานเนื้อหาจากเว็ปไซต์เด็กหลังห้อง)
ผู้ดำเนินรายการ : การจัดการศึกษาทางเลือกเป็นวิถีการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยไหม มีวิธีทำอย่างไรและประยุกต์อย่างไร
บุญอเนก มณีธรรม กล่าวว่า การศึกษาทางเลือกไม่ใช่ทางรอดของประเทศไทย แต่ทางรอดของประเทศไทยคือการมีการเมืองการปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะการศึกษาที่ดีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ใช้ระบอบเผด็จการแต่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งวัฒนธรรมการเชื่อจำทำตามเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากโครงสร้างการเมืองการปกครองแบบแนวดิ่ง วัฒนธรรมแบบนี้เด็กจะไม่ได้รักกันหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน แต่หากเป็นประชาธิปไตย ครูจะยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เด็กในห้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันทุกคน เมื่อครูเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนเด็กก็จะมีความสุขและมีปฏิสัมพันธ์กับการเรียนรู้อย่างมาก ฉะนั้นตรงนี้ต่างหากคือหัวใจของทางรอดของประเทศไทย
ชัชวาล ทองดีเลิศ ได้มองในมุมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางเลือกว่า เพราะวิกฤตของการศึกษากระแสหลักจึงต้องมีการศึกษาทางเลือก วิกฤติที่ว่านี้ได้แก่การใช้การศึกษาเป็นทางผ่านเพื่อไปประกอบอาชีพที่รับใช้รัฐและนายทุน ต่อมาคือการจัดการเรียนการสอนไม่มีความหลากหลาย เน้นการท่องจำและนำไปสอบ และมีลักษณะแบบเผด็จการ และวิกฤตข้อสุดท้ายคือการบริหารการศึกษาที่ผูกขาดไปที่กระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว สำหรับการศึกษาทางเลือกในยุคแรกเป็นของคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษากระแสหลัก เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน เก่งเกินความรู้ที่มีอยู่ในระบบ หรือเรียนแล้วไม่มีความสุขก็ออกมา ยุคต่อมาเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเป้าหมายทางการศึกษาใหม่โดยมองว่าการศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์ทั้งกายใจและจิตวิญญาณ พัฒนาพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมไทยที่มีคุณธรรมจริยธรรม ทักษะชีวิต การปฏิบัติ จิตสาธารณะ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งหมายความว่ามนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน มีศักยภาพตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจะทำให้มนุษย์ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพต้องมีความหลากหลายในหลักสูตรการเรียนรู้ ทางเราได้เสนอไปว่าการศึกษาทางเลือกคือการทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกการศึกษาที่เหมาะกับตัวเอง การรู้จักตนเองคือการค้นพบศักยภาพต่างๆตามธรรมชาติผ่านความรัก ความชอบ และความถนัด เพราะจะทำให้เรามีความสุขและเกิดพลังในการเรียนรู้จนสามารถไปถึงความใฝ่ฝันหรือคุณค่าของชีวิตที่แท้ได้อย่างสมบูรณ์ หากนิยามการศึกษาทางเลือกแบบใหม่ผมคิดว่าการศึกษาในแบบใหม่ก็จะเป็นทางออกของการศึกษาไทย
บุญเสริญ สุริยา แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สำหรับทางการศึกษาทางเลือกนั้น เราเลือกด้วยความพึงพอใจของเราอย่างไร ซึ่งการเลือกของการศึกษาในระบบและนอกระบบมันต่างกัน สำหรับการศึกษาในระบบนั้น ครูหรือบุคคลากรทางการศึกษาไม่ได้มีอำนาจ ตราบใดที่คิดว่าตนเองมีอำนาจเมื่อนั้นจะมีความอันตราย ดังนั้นครูหรือบุคคลากรทางการศึกษามีเพียงหน้าที่ที่จะให้ผู้เรียนได้เลือก และมองต่ออีกด้วยว่าการศึกษาจะรอดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ถ้าเลือกแล้วคิดว่ารอด ทางเลือกนั้นรอดแน่นอน แต่ถ้าเป้าหมายไม่บรรลุตามที่คาดหวังไว้ก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้งว่าทำไมจึงไม่รอด
ผู้ดำเนินรายการ: เนื่องจากวิทยากรทั้งสามท่านมาจากระบบโรงเรียนที่ต่างกัน อยากเห็นภาพวิธีของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้ผู้เรียนมีศักยภาพอย่างแท้จริง และเป็นทางรอดหรือไม่ อย่างไร
บุญอเนก มณีธรรม บอกว่า เนื่องจากไม่ได้อยู่ในวงการจัดการเรียนการสอน แต่สิ่งสำคัญที่ทำคือการปรับกระบวนวิธีคิดของครู เพราะถ้าวิธีคิดของครูผิด อย่างอื่นก็หมดตามไปหมด ต่อมาคือ ไม่เคยพูดคำว่าวินัยกับผู้เรียน แต่เน้นย้ำเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่อยากทำอะไรก็ได้ที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ผอ.บุญเอนก กล่าวต่ออีกว่าอยากให้มองว่าความรู้เป็นเรื่องธรรมดา สามารถล้าสมัยได้ และการเรียนการสอนควรมีความเชื่อมโยงและบูรณาการ เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและธรรมชาติเชื่อมโยงต่อกัน การเรียนรู้ที่ดีของผู้เรียนคือการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ดังนั้นควรจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวัยของผู้เรียน เนื่องจากโรงเรียนต้นกล้าเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาจึงได้ใช้การเล่นเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การเต้น การร้องเพลง การกระโดด เพื่อกระตุ้นให้สมองสามารถเข้าใจภาษาได้ง่าย ส่วนคุณธรรมจริยธรรมก็ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องตระหนักเสมอว่าแต่ละคนนิยามความดีแตกต่างกัน นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้สร้างคำว่า “Happy Imagineers” ขึ้น Imagineers มาจาก Imagine และ Engineer โดย Engineer นั้นจะให้ผู้เรียนเรียนรู้ความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเรียนแบบ Open Approach เน้นให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการทางคณิตศาสตร์มากกว่าการหาคำตอบ และใช้จินตนาการเป็นวามรู้พื้นฐานในการทำงานอย่างมีความสุข
ชัชวาล ทองดีเลิศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การศึกษาทางเลือก คือ ความหลากหลายซึ่งเป็นการจัดการเรียนโดยผู้ปกครอง (Homeschool) โดยภูมิปัญญา สถาบันศาสนา หรือโรงเรียนทางเลือกของเอกชนอื่นๆ เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทอสี โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก โฮงเฮือนสืบสานภูมิปัญญา โรงเรียนสัตยาไส ฯลฯ และโรงเรียนทางเลือกที่จัดขึ้นโดยรัฐได้แก่โรงเรียนต่างๆเชื่อมโยงกับบ้าน วัด เชื่อมโยงกับชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งกลุ่มเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ กระบวนการเรียนที่สำคัญคือ ไม่ได้ใช้ตำราเป็นตัวตั้งแต่ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง ทำอย่างไรจะให้เด็กได้ค้นพบตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบอะไร รักอะไร มีความฝันแบบไหน แล้วให้เขาได้ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ต่อมาคือ การเรียนรู้ต้องมีความหลากหลาย ทั้งฟัง คิด อ่าน เขียน ปฏิบัติ ส่วนคุณธรรมจริยธรรมมันไม่อาจเกิดขึ้นด้วยการสอนแต่ผู้สอนต้องปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่าง ครูภูมิปัญญาที่โฮงเฮือนสืบสานภูมิปัญญานั้นจะใช้วิธีสอนโดย “พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้เป็น เล่นฮื้อม่วน” หรือพ่ออุ๊ยสอนจักรสานโดยเริ่มจากการเล่านิทาน นอกจากนี้อาจารย์ชัชวาลยังกล่าวต่ออีกว่า สำหรับการจัดการเรียนการสอนของบ้านเรียน(Homeschool) ผู้ปกครองจำเป็นรู้จักวิธีฟังลูกเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ลูกกำลังสื่อ ใช้หัวใจฟังแล้วคอยสังเกตดูว่าลูกถนัดอะไร ชอบอะไร พาไปดู พาไปลองทำ เปิดโอกาสเพื่อการเรียนรู้อย่างไม่มีเงื่อนไข และผู้ปกครองต้องพร้อมปรับตัวให้เข้ากับลูกให้ได้
สำหรับ บุญเสริญ สุริยา นั้น มองว่า การจัดการศึกษาในระบบในปัจจุบันของแต่ละช่วงชั้นนั้นต่างกัน แม้โครงสร้างหลักสูตรจะกำหนดให้ผู้เรียนเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เหมือนกัน ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนของการศึกษาในระบบควรเป็นแบบ Learning by Doing เพราะหากไม่มีการปฏิบัติแล้วก็คงไม่บรรลุผลที่ผู้เรียนหรือผู้ปกครองคาดหวังไว้ สำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นควรจะได้เรียนทุกรายวิชาเพื่อเป็นฐานมั่นคงในการเรียน ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้นก็ควรจะได้เรียนรู้แบบ Learning to do, learning to learn, learning to live, learning to serve, learning to do เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการเรียนและการปฏิบัติอาจจะแตกต่างกันเพราะขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่เลือกเรียน หากเป็นสายวิทยาศาสตร์ก็จะเข้าห้อง lap เพื่อทดลอง หากเป็นสายศิลป์หรือสายอาชีพก็จะปฏิบัติโดยการลงพื้นที่ทำงาน สำหรับครูนั้นต้องปรับกระบวนการเรียนแบบ learning by doing ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
ผู้ดำเนินรายการ: อยากให้วิทยากรทั้งสามท่านฝากข้อคิดให้กับนักศึกษาครูและผู้ร่วมงานเสวนาอื่นๆ ว่าการศึกษาแบบใดที่ครูควรปรับประยุกต์เพื่อนำไปสู่ทางรอดหรือผลสัมฤทธิ์ที่ดีของผู้เรียน
บุญอเนก มณีธรรม อ้างว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าเด็กไทยนั้นยิ่งเรียน IQ ยิ่งต่ำลง และสถาบันในนิวซีแลนด์ก็ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเด็กแต่ละประเทศทั่วโลก พบว่าเด็กไทยกว่า 80% ไม่มีขีดความสามารถในศตวรรษหน้า ดังนั้นผมจะบอกทุกคนเสมอว่าให้พาลูกหลานออกไปจากความจนและการศึกษาไทยให้เร็วและไกลที่สุด เพราะภายใต้ระบอบการเมืองการศึกษาไทยแบบนี้ไม่สามารถที่จะสร้างระบบการเรียนรู้ของเด็กได้เท่าที่เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้
ชัชวาล ทองดีเลิศ ได้ฝากนักศึกษาครูและผู้ที่สนใจทุกท่านว่า อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษา โดยเริ่มจากตัวเอง ผมคิดว่าทุกคนต้องคิดใหม่ว่าการศึกษาเป็นของเราทุกคน เมื่อเราอยากรู้อะไรก็สามารถออกแบบและเรียนรู้เองได้เลย มันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการเรียนรู้มันเปิดกว้าง และถ้าหากครูท่องตำรามาสอน เด็กก็คงจะไม่เรียนเพราะเขาสามารถค้นหาจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือทักษะในการเรียนรู้ ทักษะในการแสวงหาความรู้และหาคำตอบให้ชีวิตตัวเอง และหากครูจะไปสอน อยากให้ครูสอนด้วยเคารพในความเป็นมนุษย์ เคารพเด็ก เมื่อไรก็ตามที่เคารพเด็กครูจะเห็นศักยภาพของเขา แต่หากครูไม่เคารพเด็กก็จะเห็นเพียงข้อจำกัดแล้วก็ไปยัดเยียดความรู้ที่คิดว่าดีที่สุดให้เด็กด้วยคิดว่าเป็นเจตนาดี ดังนั้นจึงต้องสั่งต้องสอนในแบบหรือแนวทางที่ครูอยากให้เป็น หรือเรียกว่า Negative Approach นั่นเอง และผมคิดว่าการเจตนาดีนี่อันตรายที่สุด มันมีแต่ทำให้เราเกิดความทุกข์ ทุกข์จากความเจตนาดีหรือความคาดหวังของผู้อื่น ฉะนั้นเมื่อครูเคารพในตัวเด็กแล้วจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และเรียนรู้ได้จากทุกคน ผมไม่อยากให้แต่ละฝ่ายโทษกันไปโทษกันมา แต่อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงการศึกษาโดยเริ่มจากตัวเอง
บุญเสริญ สุริยา กล่าวปิดท้ายว่า ผมเห็นด้วยกับวิทยากรทั้งสองท่าน คือ หนึ่ง เอาลูกหลานออกจากความจนและการศึกษาไทยให้เร็วและไกลที่สุด สอง ให้เคารพในตัวผู้อื่น แต่ถ้าเรายังอยู่ในเมืองไทยภายใต้ระบอบการปกครองและนโยบายการศึกษาเช่นนี้แล้ว เราต้องทำใจและย้อนดูว่าครูมีบทบาทอะไรแล้วตั้งใจทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด หรือการเป็นนักเรียนนักศึกษาตามบทบาทหน้าที่ของเรา ผมคิดว่าคนที่รู้จักผู้เรียนดีที่สุดคือผู้สอน ไม่ใช่นักการศึกษาที่มากำหนดผลลัพธ์ที่ตายตัว ฉะนั้นถ้ายังอยู่ในเมืองไทยก็ต้องเชื่อมั่นในประเทศภายใต้ระบอบการปกครองในปัจจุบัน ทำใจให้มีความสุขกับการเป็นคนไทยและทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ส่วนผลจะเป็นอย่างไร เราวางแผนยังไง ผลก็น่าจะใกล้เคียงอย่างนั้น