การสอนประวัติศาสตร์ประชาชนผ่านบทเพลงเซิ้งอีสาน

การสอนประวัติศาสตร์ประชาชนผ่านบทเพลงเซิ้งอีสาน

อรรถพล ประภาสโนบล


ในขณะที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยในยุคปัจจุบันกำลังผลิตซ้ำการเสนอข้อมูลบางอย่างให้กลายเป็นความจริง ความถูกต้อง ด้วยการเพิ่มชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น และในตัวเนื้อหาแบบเรียนเน้นย้ำถึงการเข้าใจประวัติศาสตร์ผ่านตัวบุคคล ที่รัฐถือจัดไว้ให้เป็นต้นแบบของพลเมือง ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไรของการเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่มีความเป็นชาตินิยม ในแบบชาติที่ไม่มีประชาชนอยู่ในประวัติศาสตร์เป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อประชาชนไม่เคยมีอยู่ในประวัติศาสตร์ ทำให้มุมมองการมองประวัติศาสตร์จึงเป็นมุมมองของรัฐหรือกลุ่มอำนาจหนึ่งที่ร้อยเรียงเรื่องเล่าของตนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มของตนเอง ทั้งในแบบที่จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม มันจึงกลายเป็นความเข้าใจประวัติศาสตร์จากคำอธิบายของส่วนบนเท่านั้น 











แต่ทว่า หากเราย้อนเวลามองดูสังคมที่ผ่านมา ประชาชนล้วนมีการมองประวัติศาสตร์และอธิบายประวัติศาสตร์ไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติส่วนล่าง (ที่ไม่มีอยู่ในแบบเรียน) ดังเห็นได้จากเพลงเพื่อชีวิต ที่เกิดขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของสังคมไทยมาตลอดหลายทศวรรษ แต่หนึ่งในนั้น เพลงที่มีคุณค่าที่สำคัญอย่างเพลง “เซิ้งอีสาน” ที่ถูกถ่ายทอดโดยวงคาราวาน ที่เปล่งคำร้องในทำนองแบบอีสาน และดนตรีที่สนุกสนานชวนให้คล้อยตาม ที่ทำให้ผู้ฟังต้องนึกถึงพื้นที่อีสานออกมาเป็นฉากในความคิดหรือภาพฉายในใจในทันทีที่ได้ยินเสียงเพลงบรรเลงขับขานขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามเนื้อหาสำคัญของบทเพลงเซิ้งอีสานนี้ อยู่ตรงการฉายภาพประวัติศาสตร์ของประชาชนอีสานที่มีต่ออำนาจรัฐ ที่แฝงไปด้วยความเจ็บแค้นเอาไว้ ดังเช่นเนื้อเพลงตอนหนึ่ง 
“มันก็ใช้อำนาจข่มเหง มันเป็นนักเลงยิงปืนเข้าใส่
ไอ้พวกผู้ใหญ่มันบ่มีศีลธรรม พวกห่าตำพวกทรราช” 
และเนื้อเพลงยังกล่าวสะท้อนความรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลที่ไปให้การสนับสนุนกับสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น 
“มันยกย่องแต่อเมริกา ให้มันมาจัดตั้งฐานทัพ มันตั้งไนท์คลับเต็มบ้านเต็มเมือง ให้เฮาเปลืองทั้งข้าวทั้งน้ำ”  
และบทเพลงดังกล่าวยังฉายภาพความเปลี่ยนแปลงสังคมอีสานในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
“มันตั้งไนท์คลับเต็มบ้านเต็มเมือง” 
และ 
“ลูกสาวเฮามันก็เอาไปกอด” 
ที่ทำให้เห็นภาพของสังคมในเวลานั้นที่วัฒนธรรมแบบอเมริกันเข้ามาแพร่หลายจนเกิดไนท์คลับ และเกิดหญิงค้าบริการตามมา สิ่งเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่ามา ทำให้ภาพความทรงจำเหล่านี้ขาดหายไป 

จากบทเพลงดังกล่าว พอจะทำให้เราเห็นภาพของประวัติศาสตร์ของประชาชนมากขึ้น โดยที่ไม่ได้เป็นบุคคลที่หยุดนิ่งทางประวัติศาสตร์หรือล่องหายไปทางความทรงจำ แต่ตัวพวกเขาถูกประวัติศาสตร์ทำให้ลืม ทั้งที่พวกเขาก็มีส่วนในประวัติศาสตร์มาโดยตลอด 

แนวทางการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ผ่านเพลงของประชาชนที่สะท้อนบริบทเรื่องราวแต่ละยุคสมัยเอาไว้ อาจเป็นแนวทางใหม่ของการสอนประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการรับรู้ประวัติศาสตร์ในหลายส่วนหลายด้าน หลายคน หลายกลุ่ม ท้ายที่สุดแล้ว "ประวัติศาสตร์ก็จะมีประชาชน"



https://www.youtube.com/watch?v=0AnB8LOjmcI
ขอขอบคุณ บริษัท โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด