อิวาน ไอลิซ : โยนโรงเรียนทิ้งไป แล้วเริ่มความเป็นไปได้ในแบบใหม่

อิวาน ไอลิซ : โยนโรงเรียนทิ้งไป แล้วเริ่มความเป็นไปได้ในแบบใหม่ 


อรรถพล ประภาสโนบล

“เด็กยากจนต้องการเงินทุนเพื่อช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่ต้องการวุฒิรับรองว่าได้รับการบำบัดแก้ไขความไม่เท่าเทียมแล้ว” 

การศึกษากลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในหลายประเทศ มีหลากหลายแนวคิดที่ต้องการจะเสนอให้โรงเรียนมีการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการสอน บางแนวคิดเสนอให้โรงเรียนต้องปรับทั้งสิ่งแวดล้อมไปด้วย หรือมีการนำความคิดทางศาสนาเข้ามามีส่วนสำคัญในการออกแบบโรงเรียน ไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “Deschooling Society“ ซึ่งแปลในชื่อภาษาไทยว่า “ที่นี่ไม่มีโรงเรียน” ของอิวาน ไอลิซ (Ivan Illich) นักการศึกษาชาวออสเตรีย ที่มุ่งเน้นการวิพากษ์ถึงความล้มเหลวของระบบโรงเรียน และเสนอให้ยกเลิกโรงเรียน พร้อมกับเสนอความเป็นไปได้แบบใหม่ในมุมมองของเขาขึ้นมา 




โรงเรียนเปรียบเสมือนศาสนา 
โรงเรียนพยายามจะสัญญาให้ผู้ที่เข้ามาเรียนว่าตัวพวกเขาและเธอจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหลังจบการศึกษา โดยมีครูเป็นผู้ทำหน้าที่แห่งการเทศนา แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นพิธีกรรมลมๆ แล้งๆ ที่แทบจะไม่มีวันเกิดขึ้น เขามองว่าโรงเรียนเป็นสถาบันหลักที่สถาปนาระบบคุณค่าเพื่อประทับตราความสำเร็จและให้วุฒิบัตรรับรอง การจะเดินไปสู่เส้นทางความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนอย่างมาก นั่นหมายความว่าผู้ที่มีเงินทุนย่อมมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้มากกว่า คนจนกลายเป็นผู้มาร้องขอโอกาสจากโรงเรียนเพื่อให้ได้เรียนรู้ พวกเขาต้องการเป็นผู้พึ่งพาโรงเรียน เพื่อรอวันที่โรงเรียนจะนำพาเขาเข้าไปสู่การเรียนรู้ 

ทำไมต้องไปเรียนที่โรงเรียน เราให้ความหมายโรงเรียนอย่างไร และจำกัดความเอาไว้ว่าอะไร? สำหรับไอลิซแล้วเขามองว่าโรงเรียนเป็นที่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับครู มีการเข้าเรียนเต็มเวลา และมีหลักสูตรที่บังคับ ที่สำคัญยังสร้าง“สถานภาพความเป็นเด็ก” เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ทางภารกิจสำคัญที่เด็กต้องไปเรียนรู้ นอกจากนี้เขายังชี้ให้เรากลับมาตรวจสอบและตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ด้วยคำถาม 3 ข้อ คือ 1) ทำไมเด็กต้องไปอยู่ที่โรงเรียน 2) ทำไมเด็กต้องเรียนรู้ในโรงเรียน และ 3) ทำไมเด็กต้องได้รับการสอนเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น เขามองว่ามนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ตามสิ่งที่เขาอยากเรียนไม่ใช่ถูกบังคับให้เรียน เพราะสถานภาพของความเป็นเด็กที่ถูกสร้างขึ้นมา การแสวงหาทางเลือกของการเรียนรู้แบบใหม่ที่ไม่ใช่โรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่เขาเสนอและเห็นสมควร  

ความเป็นไปได้ที่จะก้าวข้ามโรงเรียน
ในทรรศนะสังคมที่ไร้โรงเรียนของเขาเห็นว่า โรงเรียนควรเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้คนเรียนรู้ได้อย่างเสรี ประการแรก ต้องมีการบริการเครื่องมือทางการศึกษาอย่างอิสระ ตัวสถาบันเองไม่ควรที่จะควบคุมเครื่องมือเหล่านั้น แค่ควรเปิดให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากบริการเหล่านั้นร่วมกันได้ นอกจากนี้เขาเห็นว่าเด็กไม่มีโอกาสในการเลือกคนที่เขาอยากเรียนด้วย ทำให้ ประการที่สอง เขาเห็นว่าต้องมีการสร้าง “ข่ายใย” โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนทักษะระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ที่ต้องการจัดการเรียนรู้ วางอยู่บนเงื่อนไขที่จะเต็มใจบริการ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนความรู้ได้อย่างเสรี และประการที่สาม การจัดคู่เพื่อนร่วมเรียน เป็นลักษณะเครือข่ายที่ให้ผู้เรียนสามารถพบเพื่อนร่วมหาความรู้ที่ดังที่ตั้งใจ เพราะเขาเชื่อว่าคนที่ค้นพบความริเริ่มของตนจะนำเพื่อนไปสู่การเรียนรู้ได้อย่างมีความหมาย 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เขาได้เขียนไว้เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว แต่ถึงอย่างไรในปัจจุบันสังคมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาซึ่งระบบความสัมพันธ์แบบใหม่ในการเรียนรู้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยครูจากห้องเรียน คงเป็นคำถามที่ต้องขยับและคิดกันต่อไปว่า “สังคมการเรียนรู้แบบไหนที่เราฝันถึง” แต่สำหรับอิวาน ไอลิซ แล้วคือ “สังคมที่ไม่มีโรงเรียน”