องค์กรนักเรียน : จำลองประชาธิปไตยในโรงเรียน

องค์กรนักเรียน : จำลองประชาธิปไตยในโรงเรียน

พีระศิน ไชยศร 

บทคัดย่อ 
บทความนี้มุ่งเสนอให้เห็นถึงภาพของระบบการเมืองของไทยที่ใช้อยู่ปัจจุบัน นำไปสู่การส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนผ่านการจัดองค์กรนักเรียนในรูปแบบต่างๆ ผ่านการเรียนรู้ในสังคมจำลองในโรงเรียนซึ่งปัจจุบันยังไร้ทิศทางและไม่ตอบสนองต่อทักษะและประสบการณ์ประชาธิปไตย บทความนี้ได้เสนอรูปแบบของการจัดองค์กรนักเรียนในสองรูปแบบที่เทียบเคียงได้กับระบบการเมืองที่ใช้อยู่จริงทั้งในระดับชาติคือระบบรัฐสภาและระดับท้องถิ่นคือระบบประธานาธิบดี ที่จะนำไปสู่การสร้างทักษะและประสบการณ์ทางการเมืองให้กับผู้เรียนอย่างแท้จริงและเป็นทักษะติดตัวสามารถนำไปปฏิบัติได้ในสังคมที่แท้จริง 

1) ความนำ 
องค์กรนักเรียน เมื่อกล่าวถึงคำนี้อาจจะไม่คุ้นหูหรือเคยผ่านตามามากนัก แต่หากจะกล่าวถึงคำว่า “ประธานนักเรียน” “คณะกรรมการนักเรียน” “สภานักเรียน” คำเหล่านี้อาจเป็นที่คุ้นหูและเป็นที่รู้จัก หรือใครหลายคนอาจเคย “ดำรงตำแหน่ง” มาแล้วเมื่อครั้งสมัยยังเป็นนักเรียน องค์กรนักเรียนเหล่านี้เป็นการจำลองสังคมประชาธิปไตยและสถาบันทางการเมืองของประเทศมาไว้ในโรงเรียน ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน แต่เท่าที่ผ่านมาในโรงเรียนส่วนใหญ่มีองค์กรนักเรียนเหล่านี้ มีการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าการส่งเสริมประชาธิปไตยไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น องค์กรนักเรียนเหล่านี้เป็นเพียงแค่ “เปลือก” ของประชาธิปไตยที่ถูกผู้ใหญ่นำมายัดไว้ในโรงเรียนเท่านั้น นักเรียนไม่มีทักษะและประสบการณ์ใดๆ ทางการเมืองติดตัวไปเลย นับเป็นความล้มเหลวของการสร้างพลเมืองในสังคมไทย ผ่านองค์กรนักเรียนในโรงเรียน ที่ชอบอ้างความเป็นประชาธิปไตย 

2) ระบบรัฐสภา : สถาบันการเมืองระดับชาติ 
ระบบรัฐสภาเป็นระบบที่ถูกเลือกให้เป็นระบบการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของสยามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากต้นแบบของระบบรัฐสภาอย่างอังกฤษ แม้ว่าระบบกฎหมายสยามที่มีพัฒนาการมาก่อนหน้าจะได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมสยามในขณะนั้น ขณะเดียวกันทางเลือกในระบบการปกครองที่จะนำมาใช้ก็ไม่ได้มีเพียงระบบรัฐสภาเพียงระบบเดียว หากแต่ระบบที่มีประมุขเป็นบุคคลสามัญ[1] หรือระบบประธานาธิบดีก็เป็นอีกทางเลือกในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในกรณีที่องค์อธิปัตย์ในขณะนั้นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประชาธิปกศักดิเดช ไม่ทรงยอมรับเงื่อนไขของคณะผู้ก่อการคือคณะราษฎรแต่โดยดี 
การที่จะระบุว่าระบบการปกครองใดเป็นระบบรัฐสภานั้น อยู่ที่ 1) การให้ความสำคัญกับรัฐสภา ในฐานะที่เป็นสถาบันแห่งอำนาจอธิปไตย ที่มีความสำคัญสูงสุด (มีที่มาจากประชาชนโดยตรง) ประกอบกับ 2) ฐานะของประมุขว่าอยู่ในฐานะที่จะมีอำนาจในทางบริหารหรือไม่ ไม่ว่ารัฐนั้นจะมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีก็ตาม หากประมุขไม่มีอำนาจในทางบริหาร จัดว่ารัฐนั้นมีการปกครองในระบบรัฐสภา ในทางกลับกัน หากประมุขมีอำนาจในทางบริหาร และมีคณะรัฐมนตรีอันมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (หรือบริหารกิจการแห่งรัฐ[2]) จัดว่ารัฐนั้นมีการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา หรือระบบกึ่งประธานาธิบดี[3] 

ระบบรัฐสภาไม่จำเป็นว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (หรือสมาชิกรัฐสภา) เพียงแต่ว่านายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรในทางใดทางหนึ่ง ดังเช่นวิถีปฏิบัติทางการเมืองของไทยในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น 1) จากการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา) นำชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[4] ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 2) จากการที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด (ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) หรือ 3) จากการที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[5] สรุปแล้วคือระบบรัฐสภาเน้นการให้ความสำคัญกับการที่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีมีที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ตามหลักความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน คือ นายกรัฐมนตรีมีที่มาและมีความรับผิดชอบต่อสภาฯ 

แม้ว่าในปัจจุบัน[6] ระบบ (แม้กระทั่งระบอบ) การเมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะที่ไร้หลักการ ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ในระบบใดภายใต้ระบอบใด แต่เมื่อพิจารณาระบบรัฐสภาของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540, 2550) แล้วพบว่าระบบรัฐสภาไทยถูกวางหลักการไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ในความเป็นระบบรัฐสภา (แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ที่สุดก็ตาม) คือ การที่นายกรัฐมนตรีมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรในสองมิติ คือ ทั้งการลงมติให้ความเห็นชอบ และการที่นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย 

การตรวจสอบถ่วงดุล (Checks and balances) เป็นคุณลักษณะเด่นที่มีอยู่ในระบบรัฐสภา ทั้งการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีรายบุคคล หรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะโดยสภาผู้แทนราษฎร และการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎรโดยนายกรัฐมนตรี 

3) ระบบประธานาธิบดี : สถาบันการเมืองระดับท้องถิ่น 
ลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ คือ 1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด 2) เทศบาล ซึ่งมีสามขนาด ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร 3) องค์การบริหารส่วนตำบล และ 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งมีเพียงสองแห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งทั้งหมดล้วนยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ (The Seperation of Powers) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ คือสภาท้องถิ่น และอำนาจบริหาร คือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้มาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น[7] ผู้บริหารท้องถิ่นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบริหารงานโดยความรับผิดชอบต่อสภาท้องถิ่นดังเช่นระบบรัฐสภา แต่จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่นแทน  

อีกประการหนึ่งของหลักการแบ่งแยกอำนาจแบบระบบประธานาธิบดีที่ถูกนำมาใช้ในการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การที่ผู้บริหารท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการยุบสภาท้องถิ่น และสภาท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการถอดถอนหรือไม่ไว้วางใจผู้บริหารท้องถิ่น แต่สิ่งที่แตกต่างไปก็คือ การยุบสภาท้องถิ่นนั้นสามารถทำได้โดยเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทยภายใต้การร้องขอของผู้บริหารท้องถิ่น และการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นสามารถทำได้ผ่านการลงคะแนนเสียงถอดถอนของประชาชน 

4) สถานะองค์กรนักเรียนในประเทศไทย : ประชาธิปไตยแบบไหน
ปัจจุบันโรงเรียนต่างๆ ทั้งโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนรัฐต่างก็มีพัฒนาการในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยในสถานศึกษา แม้ว่าบางแห่งจะตื่นตัวขึ้นเพื่อรองรับการประเมินสถานศึกษาก็ตาม โรงเรียนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะให้มีการส่งเสริมประชาธิปไตยในสถานศึกษาผ่านการจัดตั้งองค์กรนักเรียนขึ้นมา ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบในประเทศไทย ทั้งประธานนักเรียน องค์การบริหารนักเรียน สภานักเรียน คณะกรรมการนักเรียน หรือบางครั้งก็ผสมผสานทั้งรูปแบบของคณะกรรมการและสภา เป็นคณะกรรมการสภานักเรียน เป็นต้น แม้แต่ในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาก็มีการจัดตั้งองค์กรนักศึกษาในลักษณะนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่มีลักษณะและรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจนกว่า ในรูปขององค์การนักศึกษา สภานักศึกษา หรือสโมสรนักศึกษา  

การจัดโครงสร้างทางการเมืองทั้งในระดับชาติหรือระดับรัฐและระดับท้องถิ่น ต่างก็มีระบบระเบียบชัดเจนว่าระดับใดจะยึดรูปแบบหรือระบบใดในการจัดองค์กรทางการเมือง โดยมีกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกรองรับชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาถึงองค์กรนักเรียน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในสถานศึกษากลับพบว่า มีความไร้ระบบระเบียบเป็นอย่างยิ่ง การจะจัดว่าโรงเรียนใดจะเลือกใช้ระบบใดในการจัดองค์กรนักเรียน ก็ล้วนเป็นอำนาจในการตัดสินใจของผู้บริหารโรงเรียนนั้นๆ หรือไม่ก็รับเอาอิทธิพลมาจากโรงเรียนใกล้เคียง โรงเรียนต้นแบบที่ต้องการจะพัฒนาให้เท่าทัน หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย แทนที่จะเป็นการยึดรูปแบบจากโครงสร้างทางการเมืองที่ใช้กันอยู่จริงทั้งในระดับชาติหรือระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น คือระบบรัฐสภา และระบบประธานาธิบดี  

องค์กรนักเรียนไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างไร ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรนักเรียนในลักษณะที่ใช้อำนาจบริหารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประธานนักเรียน คณะกรรมการนักเรียน สภานักเรียนหรือคณะกรรมการนักเรียนก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะของการปลูกฝังค่านิยมทางการเมืองในรูปแบบของประชาธิปไตยที่ไร้การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ อีกทั้งโรงเรียนหลายแห่งยังมีลักษณะของเผด็จการอำนาจนิยมแบบจารีต โดยมีครูบาอาจารย์ในโรงเรียนเป็นผู้มีอำนาจในองค์นักเรียนอย่างแท้จริง นักเรียนที่ได้รับการเลือกตั้งมานั้นเป็นเพียงหุ่นเชิดหน้าฉาก ไม่มีอำนาจในการบริหารหรือตัดสินใจใดๆ  

5) รัฐโรงเรียน : นักเรียนเป็นใหญ่ 
การจะส่งเสริมประชาธิปไตยโรงเรียนอย่างจริงจัง จะต้องยอมรับก่อนว่าในโรงเรียนนั้นนักเรียนมีความสำคัญที่สุด เปรียบเสมือนประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ฉะนั้นแล้วไม่ว่ากิจการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง ทั้งกิจกรรมนักเรียน กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ควรจะเป็นสิทธิ์ของนักเรียนที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในโรงเรียน ประหนึ่งว่าโรงเรียนมีสถานะเป็นรัฐๆ หนึ่ง ในการศึกษาสังคม (Social Education) หรือสังคมจำลอง (Social simulation) ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของนักเรียนอยู่แล้ว ผ่านการจับจ่ายใช้สอย ระบบสหกรณ์ ธนาคารโรงเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมโรงเรียน จึงควรให้ระบบการเมือง (Political systems) เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนด้วย เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะชีวิตอย่างรอบด้าน ครอบคลุมในทุกมิติของสังคม 

6) การสร้างสถาบันการเมืองในรัฐโรงเรียน : องค์กรนักเรียนที่ควรจะเป็น
ที่ผ่านมาสถานะขององค์กรนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ อยู่ในขั้นที่เรียกว่าวิกฤติและไร้ซึ่งความหมาย ผลของการมีอยู่ซึ่งองค์กรนักเรียนในสถานศึกษาถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการประเมินโรงเรียน การเลื่อนวิทยฐานะของครู ผู้บริหารสถานศึกษามากกว่าเป็นไปเพื่อการพัฒนาทักษะประชาธิปไตยของนักเรียนในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคมที่แท้จริง สังคมจำลองหรือสังคมเสมือนที่เรียกว่ารัฐโรงเรียนนี้จึงควรสร้างสถาบันทางการเมืองของนักเรียนขึ้นมา เทียบเคียงกับระบบใดระบบหนึ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันของประเทศ เป็นการศึกษาโครงสร้างทางการเมืองของประเทศและท้องถิ่นไปในตัว แทนที่จะเป็นการเรียนผ่านวิชาสังคมศึกษาซึ่งต้องจำแล้วจำอีก ไร้ซึ่งการปฏิบัติ 

แนวทางในการจัดองค์กรนักเรียนเพื่อสร้างสถาบันทางการเมืองในรัฐโรงเรียนที่มีคุณภาพนั้นยึดหลักของระบบประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ใช้อยู่ 2 แนวทาง คือ 1) การยึดระบบรัฐสภา 2) การยึดระบบประธานาธิบดี 

การจัดองค์กรนักเรียนโดยยึดระบบรัฐสภา จะต้องจัดองค์กรออกเป็นสองส่วนสำคัญ คือ 1) ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภานักเรียน หรือสภาผู้แทนนักเรียน โดยให้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนักเรียน โดยใช้ระบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง (Electorates) ซึ่งอาจจะแบ่งตามห้องเรียน ระดับชั้น คณะสี กลุ่มสี ซึงมีอยู่ในโรงเรียนตามความเหมาะสม มีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งประธานนักเรียน หรือประธานคณะกรรมการนักเรียน (จะกล่าวถึงในลำดับถัดไป) พิจารณาออกข้อบังคับ กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง และควบคุมการบริหารงานของประธานนักเรียนหรือคณะกรรมการนักเรียน และ 2) ฝ่ายบริหาร เรียกว่า ประธานนักเรียน (คนเดียว) หรือคณะกรรมการนักเรียน (เป็นคณะ) โดยตำแหน่งประธานนักเรียนหรือประธานคณะกรรมการนักเรียนนั้นมาจากความเห็นชอบของสภานักเรียนหรือผู้แทนนักเรียน ซึ่งตำแหน่งประธานนักเรียนหรือประธานสภานักเรียนนี้จะมาจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภานักเรียนหรือสภาผู้แทนนักเรียนหรือหรือไม่ก็ได้ มีหน้าที่ในการบริหารกิจการนักเรียนและกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน 

การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ยึดตามหลักการของระบบรัฐสภา คือ ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถถอดถอนหรือไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารได้ และฝ่ายบริหารสามารถยุบสภาได้ ซึ่งการจัดองค์กรนักเรียนโดยยึดระบบรัฐสภานี้เป็นการเทียบเคียงการเมืองในระดับชาติ  

ข้อดีของการจัดองค์กรนักเรียนโดยยึดระบบรัฐสภา 
1) นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบรัฐสภาซึ่งเป็นระบบการเมืองระดับชาติและได้รับประสบการณ์โดยตรง 
2) นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง การนับคะแนน วิธีการต่างๆ และจะเป็นทักษะติดตัวไปจนกระทั่งนักเรียนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง 
3) นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบตัวแทน (Representatives) ในการประสานประโยชน์ระหว่างนักเรียนกับองค์กรนักเรียนและผู้บริหารโรงเรียน  
ข้อจำกัดของการจัดองค์กรนักเรียนโดยยึดระบบรัฐสภา 
1) เกิดความยุ่งยากในการเลือกผู้นำฝ่ายบริหาร 
2) เหมาะสำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป ที่นักเรียนสามารถคิดพิจารณาเกี่ยวกับระบบการเมืองได้ด้วยตนเอง 
3) ใช้เวลาปรับตัวสำหรับนักเรียนและโรงเรียนค่อนข้างนาน เนื่องจากเป็นระบบที่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้และไม่มีความคุ้นเคย  

ส่วนการจัดองค์กรนักเรียนโดยยึดระบบประธานาธิบดี จะต้องจัดองค์กรออกเป็นสองส่วนสำคัญ คือ 1) ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภานักเรียน หรือสภาผู้แทนนักเรียน โดยให้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนักเรียน โดยใช้ระบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง (Electorates) ซึ่งอาจจะแบ่งตามห้องเรียน ระดับชั้น คณะสี กลุ่มสี ซึงมีอยู่ในโรงเรียนตามความเหมาะสม มีหน้าที่ในการ พิจารณาออกข้อบังคับ กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง และควบคุมการบริหารงานของประธานนักเรียนหรือคณะกรรมการนักเรียน และ 2) ฝ่ายบริหาร เรียกว่า ประธานนักเรียน (คนเดียว) หรือคณะกรรมการนักเรียน (เป็นคณะ) โดยตำแหน่งประธานนักเรียนหรือประธานคณะกรรมการนักเรียนนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนักเรียนทั้งโรงเรียน มีหน้าที่ในการบริหารกิจการนักเรียนและกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน  

การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ยึดตามหลักการแบ่งแยกอำนาจของระบบประธานาธิบดี คือ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถถอดถอนหรือไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารได้ แต่สามารถควบคุมโดยการเปิดอภิปรายเพื่อให้ฝ่ายบริหารตอบข้อซักถามหรือข้อสงสัยในการบริหารงานจากฝ่ายนิติบัญญัติได้ และฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจยุบสภา โดยทั้งสองฝ่ายจะอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ซึ่งการจัดองค์กรนักเรียนโดยยึดระบบประธานาธิบดีนี้เป็นการเทียบเคียงการเมืองในระดับท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ซึ่งมีความใกล้ชิดกับนักเรียนในท้องถิ่น 

ข้อดีของการจัดองค์กรนักเรียนโดยยึดระบบประธานาธิบดี 
1) นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบประธานาธิบดีซึ่งเป็นระบบการเมืองระดับท้องถิ่นและได้รับประสบการณ์โดยตรง 
2) นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง การนับคะแนน วิธีการต่างๆ และจะเป็นทักษะติดตัวไปจนกระทั่งนักเรียนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง
3) นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบตัวแทน (Representatives) ในการประสานประโยชน์ระหว่างนักเรียนกับองค์กรนักเรียนและผู้บริหารโรงเรียน 
4) เหมาะสมกับโรงเรียนทุกระดับ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากและไม่มีความซับซ้อน 

ข้อจำกัดของการจัดองค์กรนักเรียนโดยยึดระบบประธานาธิบดี 
- นักเรียนขาดทักษะและประสบการณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  

การที่โรงเรียนใดจะเลือกใช้ระบบใดก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความต้องการของแต่ละโรงเรียน ซึ่งทั้งสองระบบล้วนส่งผลดีต่อทั้งนักเรียนและโรงเรียนเองในแง่ของการเสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านประสบการณ์ตรง มีความชัดเจนและสอดคล้องกับระบบการเมืองที่เป็นไปในสังคมการเมืองในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อีกทั้งส่งเสริมให้การดำเนินงานเกี่ยวกับกิจกรรมนักเรียนเกิดประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่โดยไม่อยู่ภายใต้การสั่งการหรืออาณัติใดๆ ของครูหรือผู้บริหารโรงเรียน มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  

7) บทส่งท้าย 
ผู้บริหารโรงเรียนในประเทศไทยโดยเฉพาะผู้บริหารรุ่นใหม่ควรตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมประชาธิปไตยและการสร้างวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้กับสังคม วิธีการสำคัญที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงคือจัดองค์กรนักเรียนให้มีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่สอดคล้องกับระบบการเมืองที่เป็นไปของระบบเมืองไทยในปัจจุบัน ทั้งระบบรัฐสภาในการเมืองระดับชาติ และระบบประธานาธิบดีในการเมืองระดับท้องถิ่น แทนที่จะเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับองค์กรนักเรียนที่ไร้หลักการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่เมื่อถึงเวลาก็ต้องมาเตรียมมาจัดฉากเพื่อรอรับการประเมินว่าเป็นโรงเรียนส่งเสริมประชาธิปไตย ทั้งที่จริงแล้วมีเพียงแค่การเลือกตั้งประธานนักเรียนหรือสภานักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์ ความรู้ ทักษะ หรือประสบการณ์ใดๆ จากการองค์กรนักเรียนที่เป็นประชาธิปไตยจอมปลอมเช่นนี้เลยแม้แต่น้อย 

เอกสารอ้างอิง 
ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูตร. “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1”. เอกสารการเมืองการปกครองไทย. โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กรุงเทพฯ : 2518.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. 

เชิงอรรถ
[1] ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูตร, “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” เอกสารการเมืองการปกครองไทย, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กรุงเทพฯ : 2518, หน้า 210.
[2] เทียบเคียงกับคำว่า บริหารราชการแผ่นดิน ใช้ในรัฐที่มีประมุขที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ เนื่องจากคำว่าบริหารราชการแผ่นดิน มีความหมายโดยนัยเป็นการบริหารงานของรัฐต่างพระเนตรพระกรรณพระมหากษัตริย์
[3] บ่อยครั้งระบบที่มีการผสมผสานระหว่างระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีถูกเรียกรวมกันว่าระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี.
[4] จากการตกลงเป็นการภายในของบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร วิถีปฏิบัตินี้ปรากฏในการเมืองไทยก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540. 
[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 201, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 171. 
[6] มีนาคม พ.ศ.2558.
[7] เดิมเทศบาลเคยใช้ระบบรัฐสภา คือนายกเทศมนตรีมาจากความเห็นชอบของสภาเทศบาล แต่ปัจจุบันยกเลิกระบบนี้ไปแล้ว