พุธเสวนาการศึกษาไทยในมุมกลับ "พลเรียนชั้นสอง"

ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จัดการเสวนาการศึกษาไทยในมุมกลับ "พลเรียนชั้นสอง"
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา
ณ ห้อง EB4509 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




Part 1

Part 2


พุธเสวนาการศึกษาในมุมกลับ ชี้สถาบันการศึกษาไทยมุ่งสร้าง“พลเรียนชั้นสอง” ให้คุณค่าอัตลักษณ์ ชื่อเสียงโรงเรียน แถมนำความดีไปผูกโยงกับการเมือง นิยมเด็กเรียนเก่ง มากกว่าเด็กคิดเป็น-มองมุมต่าง เปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กว้างขึ้น
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 เม.ย. ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มีการจัดพุธเสวนาการศึกษาในมุมกลับครั้งที่ 2  เรื่อง “พลเรียนชั้นสอง” วิทยากรประกอบด้วย รศ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.ณัฐนันท์ วรินทรเวช อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท  โดยมีนายกรีฑา แก้วคง อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้สนใจร่วมรับฟังประมาณ 40 คน
น.ส.ณัฐนันท์ กล่าวว่าปัญหาของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน คือเน้นที่อัตลักษณ์ของ สถาบันการศึกษา หรือตัวโรงเรียน มากกว่าความเป็นปัจเจกบุคคล หรือการยอมรับความคิดเห็นของนักเรียน ซึ่งการที่สถาบันการศึกษามีค่านิยมเน้นภาพลักษณ์ ชื่อเสียง การแข่งขันกันของแต่ละโรงเรียน ทำให้น้ำหนักความสำคัญอยู่ที่เกรดหรือผลการเรียน ยกย่องนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานศึกษาที่ผู้บริหารกำหนด มากกว่านักเรียนที่คิดนอกกรอบ จนนักเรียนไม่สามารถหลุดจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ เกิดการยอมรับอำนาจโดยไม่ตั้งคำถาม ทำให้ขาดทักษะเชิงวิพากษ์ หรืออาจกล่าวได้ว่าการกำหนดและพยายามปลูกฝังอัตลักษณ์ของโรงเรียน นำไปสู่การลดทอนความสำคัญของอัตลักษณ์แบบปัจเจก และลดทอนความเป็นปัจเจกของนักเรียนได้
ในแต่ละโรงเรียนมีค่านิยมการแบ่งแยก “เด็กเก่ง” และ “เด็กไม่เก่ง” การตีค่าของนักเรียนด้วยชื่อเสียงของโรงเรียนที่สังกัด นักเรียนจากสถาบันที่มีชื่อเสียงจะมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า นำไปสู่โอกาสทางสังคมที่ดีกว่า นักเรียนที่เรียนดี จึงกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นระหว่าง “พลเรียนชั้นหนึ่ง” และ “พลเรียนชั้นสอง”
และแม้คุณภาพการศึกษาในแผ่นกระดาษจะสวยหรู แต่หากไม่สามารถคิดต่าง ไม่สามารถตั้งคำถาม และไม่สามารถพูดความคิดของตนเองออกมาได้ เราจะสามารถเรียกนักเรียนเหล่านี้ว่า“พลเรียนชั้นหนึ่ง” ได้อย่างไร ขณะเดียวกัน การศึกษาในกระแสหลักยังมีการยัดเยียดอำนาจนิยม ซึ่งการที่รัฐพยายามปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ เน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม อันเป็นสิ่งที่บุคคลพึ่งมีอยู่แล้ว แต่ถูกผู้มีอำนาจปลูกฝังลงมาให้กับนักเรียน เยาวชน โดยไม่มีการรับฟังเสียงความคิดเห็นของเยาวชน ทั้งที่จะต้องสร้างให้เยาวชนตระหนักรู้ มีจิตสำนึกสาธารณะในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าถูกทำให้เป็นพลเรียนชั้นสอง
ดังนั้น “พลเรียนไทย” จะก้าวข้ามความเป็น “พลเรียนชั้นสอง” ได้ จะต้องมีสิทธิเสรีภาพ เช่นเดียวกับพลเมืองคือ เสรีภาพทางความคิด สิทธิมนุษยชน สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกคุกคาม และสิทธิ์มีเสียงในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการเคารพความเป็นปัจเจกของนักเรียน ลดความสำคัญของเกียรติยศภายนอกให้น้อยลง แล้วเคารพความเป็นคนให้มากขึ้น” น.ส.ณัฐนันท์ กล่าว
ทางด้าน รศ.โสรัจจน์ อธิบายว่า ความดีตามความหมายของคนทั่วไป คืออะไรก็ตามที่นำไปสู่ความสุขกับการเจริญงอกงาม หรือประโยชน์สุข เรื่องความดีมักจะถูกผูกโยงกับคำสอนทางศาสนา ซึ่งจะต้องตีความ คำว่า “คนดี” เป็นอย่างไร และความดีในบริการทางการศึกษา ความดีที่มาจากการกล่อมเกลาทางสังคม ทำไมจึงต้องมีการสอนเรื่องความดี ความดีสามารถสอนได้จริงหรือไม่
การแยกแยะระหว่าง “ความดี” กับ “ความถูกต้อง”  ในสังคมที่มีความหลากหลาย จะต้องอาศัย “ความถูกต้อง” มากกว่า“ความดี”  ทำอย่างไรให้คนจำนวนมากอยู่สังคมเดียวกันได้อย่างปกติสุข คนดีหลายๆ แบบ อยู่ด้วยกันได้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในภาวะปัจจุบัน ที่ความดีโดนเอาไปผูกไว้กับประเด็นการเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจทางการเมือง
ต่อมาในช่วงท้าย นายธนพงษ์ หมื่นแสน แนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสรีชนล้านนา และกลุ่มนักศึกษาผู้ไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมความรุนแรง ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้แสดงความเห็นว่า เคยทำกิจกรรมออกค่ายอาสาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ทำให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีสถานภาพที่ด้อยกว่านักเรียนเมือง อาจเรียกได้ว่าเป็นพลเรียนชั้นสาม พลเรียนชั้นสี่ ในระบบการศึกษาก็ว่าได้ จึงต้องการสะท้อนภาพของนักเรียนกลุ่มนี้ ให้กลุ่มรณรงค์และผู้อำนาจได้รับทราบด้วย
Source เนื้อหาการเสวนา http://www.northpublicnews.com/?p=9340