เราต้องสร้างโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ใช่สร้างเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน

เราต้องสร้างโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ใช่สร้างเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน
อรรถพล ประภาสโนบล

“เราต้องสร้างโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ใช่สร้างเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน” (เอ.เอส.นีล : Alexander Sutherland Neill) 

บทนำ 
ในโลกหลังสมัยใหม่การศึกษาได้ถูกตั้งคำถามมากขึ้น การศึกษาในกระแสเดิมที่มุ่งเน้นตอบสนองมนุษย์เข้าสู่โลกของทุนนิยม ได้ทำให้ชีวิตมนุษย์ต้องถูกบงการด้วยการศึกษาอย่างเป็นระบบระเบียบ ไร้ซึ่งความมีชีวิตชีวาในชีวิต ไม่ให้หลุดจากแบบพิมพ์เดียวกันที่การศึกษาสร้างขึ้นมา ในการนี้ผู้เขียนจึงได้ค้นหาแนวทางการศึกษาที่ต่างไปจากกระแสหลัก และได้พบนักการศึกษาที่น่าสนใจนามว่า “เอ.เอส นีล” หนังสือของเขาได้แปลรวมเล่มเป็นภาษาไทยชื่อว่า “ชีวิตเสรีภาพซัมเมอร์ฮิล” ภูมิหลังของ เอ.เอส.นีล เป็นนักการศึกษาที่เติบโตขึ้นใน สก็อตแลนด์ เขาได้เป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆในสกอตแลน์นานถึง 12 ปี จากนั้นก็รอนแรมไปที่อื่น จนกระทั่งกลับเข้ามาในอังกฤษ และได้จัดตั้งโรงเรียนแห่งหนึ่งขึ้นชื่อ “ซัมเมอร์ฮิล” หรือที่เรียกว่า “Free school” ซึ่งบทความชิ้นนี้จึงเขียนเพื่อสำรวจความคิดทางการศึกษาของนีล ในเบื้องต้น ดังจะกล่าวต่อไป 

การศึกษาคือความสุข 
สำหรับนีลได้นิยามการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือแห่ง “การแสวงหาความสุข” ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดจากความสนใจของมนุษย์ต้องสิ่งนั้น ดังนั้นการศึกษาจึงจำเป็นต้องสร้างเสรีภาพให้แก่เด็ก การมีเสรีภาพจึงเป็นการสร้างทางเลือกให้กับชีวิต นำมาซึ่งความสุขและการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 

ดังนั้นคู่ตรงข้ามของการศึกษาแบบนีลคือ “การศึกษาที่ไร้ความสุข” ซึ่งหมายถึงการศึกษาที่ไร้เสรีภาพ โดยเป็นการศึกษาที่ถูกควบคุมและเต็มไปด้วยการใช้อำนาจในการบังคับ นีลมองว่า ลักษณะการศึกษาเช่นนี้จะยิ่งสร้างความกดดัน ความเกลียดชังให้แก่เด็ก และท้ายสุดเด็กเหล่านี้ล้วนกลายเป็นเด็กมีปัญหา 

การปกครองตนเองในโรงเรียน 
โรงเรียนซัมเมอร์ฮิลของนีล ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ามีความไร้ระเบียบ เป็นพวกอณาธิปไตย หรือมีความสุดโต่งในด้านเสรีภาพ แต่ทว่าในความเป็นจริงเสรีภาพในความหมายของนีลกลับวางอยู่ตรงกลางระหว่างเสรีภาพกับการบังคับ หรือที่นีลเรียกว่า “การปกครองตนเอง”  

การปกครองตนเอง มีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ มีอิสระและมีขอบเขตไปในตัวเดียวกัน กล่าวคือ นักเรียนทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำได้ แต่การกระทำดังกล่าวต้องวางอยู่บนฐานของความรับผิดชอบ นีลได้ยกตัวอย่างว่า การบังคับให้เด็กไม่ปาก้อนหินใส่ผู้อื่นกับการบังคับให้เด็กเรียนภาษาลาตินต่างกัน ในกรณีแรกนั้น การบังคับดังกล่าวเป็นการบังคับเพื่อไม่ให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน แต่ในกรณีที่สอง เป็นการบังคับที่ทำลายความเป็นปัจเจก เพราะการที่เรียนหรือไม่เรียนภาษาลาตินไม่ได้มีผลกระทบต่อใคร ดังนั้นการเรียนภาษาลาตินควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจไม่ใช่การบังคับ 

การปกครองตนเองในซัมเมอร์ฮิล ได้สร้างสภาของโรงเรียนขึ้นมา สภาดังกล่าวทำหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์ของโรงเรียน ซึ่งครูและนักเรียนต่างมีสถานะเท่าเทียมกัน คือมีสิทธิในการออกเสียงได้คนละ 1 เสียง ดังนั้นการออกกฎเกณฑ์จึงไม่ใช่เรื่องของครูและไม่ใช่เรื่องของนักเรียน แต่เป็นเรื่องของครูและนักเรียนในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกัน และกฎเกณฑ์จึงเป็นสิ่งที่ผ่านการเห็นพ้องต้องกัน  

อำนาจกับเด็ก 
นีลมองว่า “เด็กสัมพันธ์กับอำนาจตลอดเวลา” อำนาจที่ว่าเป็นอำนาจของผู้ใหญ่ และเป็นไปลักษณะครอบงำหรือชี้นำ นีลเชื่อว่าเด็กจะต้องไม่ถูกผู้ใหญ่ใช้อำนาจในการกำหนดการกระทำ ซึ่งจะออกมาในรูปของศีลธรรม ศาสนา และจารีต ดังคำที่เราได้ยินประจำ เช่นว่า “อย่าทำอย่างนี้นะลูก” เขาก็เห็นว่าเด็กควรมีเสรีภาพในการกระทำของตน หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า “ควรลดอำนาจผู้ใหญ่ลง และเพิ่มอำนาจเด็กให้มากขึ้น” เขามองว่าการที่ผู้ใหญ่มักบังคับการกระทำของเด็กด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ศาสนา หรือจารีตต่างไม่ได้มีผลให้เด็กเป็นคนที่มีพฤติกรรมดีได้ แต่เขากลับเห็นว่าการให้อำนาจในการเลือกกระทำของเด็กต่างหาก ที่นำมาซึ่งการมีพฤติกรรมที่ดีของเด็กได้ ดังที่นีลยกตัวอย่างว่า การที่พ่อแม่สอนลูกให้แบ่งแอบเปิ้ลให้น้องในขณะที่กินอยู่ เพื่อหวังให้ลูกแบ่งปัน แท้จริงกำลังสร้างให้ลูกเกลียดน้องหรือไม่ เด็กอาจต้องทำตัวหลอกเพื่อให้พ่อแม่เห็นว่าเขาไม่มีความเห็นแก่ตัว ท้ายสุดนีลเชื่อว่าการปล่อยให้เด็กมีอำนาจในการตัดสินใจตามวัย เขาจะเรียนรู้เองว่าสิ่งใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้องโดยวางอยู่บนฐานของความเต็มใจ 

เสรีภาพของการเรียน 
นีลไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิธีการสอน หรือกล่าวได้ว่านีลเชื่อว่าความสนใจของเด็กเองต่างหากที่จะทำให้เด็กอยากเรียนไม่ว่าครูคนนั้นจะสอนด้วยวิธีใดก็ตาม ดังนั้นสภาพในโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลจึงเป็นสภาพโรงเรียนที่นักเรียนมีสิทธิที่ “เลือกเรียนหรือไม่เรียน” การเรียนขึ้นอยู่กับความสนใจ ดังนั้นเด็กในซัมเมอร์ฮิลจึงเข้าเรียนบ้างไม่เข้าเรียนบ้าง ซึ่งบางส่วนให้ความสนใจกับงานศิลปะ หัตกรรม หรือการเป็นช่างซ่อม นอกจากนี้เขายังปฏิเสธการเล่น มองว่าการเล่น เป็นเสมือนขนมหวานที่ล่อหลอกให้เด็กเรียนเท่านั้น  

บทส่งท้าย 
การศึกษาในมุมมองของนีลจึงเป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับ เสรีภาพ และการรับผิดชอบ ที่เด็กเองต้องมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกกระทำ ปราศจากการครอบงำจากผู้ใหญ่ ความคิดทางการศึกษาของนีลจึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คำตอบที่เป็นทางออกของการศึกษากระแสหลักทั้งหมด แต่ความคิดทางการศึกษาของนีลเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราตั้งคำถามกับการศึกษาได้กว้างขึ้น ลึกขึ้น และท้าทายมากขึ้น 

เอกสารอ้างอิง  
เอ.เอส.นีล. (2523). ชีวิตเสรีภาพซัมเมอร์ฮิล. (เตือน สุวรรณจินดา และสมบูรณ์ ศุภศิลป์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.