อรรถพล ประภาสโนบล
“ความเลวร้ายของระบบที่กระทำต่อการศึกษาก็คือ การที่ระบบทำให้การศึกษาเป็นไปเพื่อทำให้ผู้รับการศึกษาต้องกลับมารับใช้ระบบ แทนที่จะบ่มเพาะจิตใจและสติปัญญามนุษย์ให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์”
เกริ่นนำ
การศึกษาเพื่อความเป็นไท หรือ Education for liberation ถูกเขียนขึ้นโดย อดัม เคิล (Adam Curle) เขาเป็นนักการศึกษาที่เติบโตขึ้นในช่วงที่บริบทโลกกำลังห่ำหั่นกันด้วยสงครามทั้งสงครามโลกครั้งที่2 และสงครามเย็น บริบทสังคมที่เขาเติบโตในช่วงขณะนั้น รวมทั้งประกอบกับประสบการณ์การทำงานในประเทศโลกที่สาม่ ได้กลายเป็นอิทธิพลสำคัญให้เขาได้เรียนรู้และตั้งคำถามกับการศึกษา ในการศึกษาครั้งนี้ของผู้เขียนจึงมุ่งสำรวจความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อความเป็นไทของอดัม เคิล ซึ่งได้นำเสนอ 3 ประเด็นได้แก่ 1)การศึกษาที่ดำรงอยู่ภายใต้ระบบ 2) บทบาทครู หลักสูตร เพื่อการปลดแอกจากระบบ 3) ปลายทางของการปลดแอกสู่การศึกษาแนวใหม่
Adam Curle : https://100objectsbradford.wordpress.com/2012/02/15/47-scope-and-dilemmas-of-peace-studies/ |
การศึกษาที่ดำรงอยู่ภายใต้ระบบ
เขาได้วิพากษ์การศึกษาที่ดำรงอยู่ว่าเป็นการศึกษาเพื่อรับใช้ระบบ การศึกษาเป็นเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศมหาอำนาจ กลุ่มชนชั้นปกครอง จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ของการขัดแย้ง เอารัดเอาเปรียบระหว่างกัน เกิดการครอบงำจากผู้ที่ได้เปรียบ ทำให้เสมือว่าความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ชอบธรรม การศึกษาจึงเป็นการตอกย้ำให้คนรวยยิ่งรวย และตอกย้ำคนจนให้จน ทำให้เขาเสนอว่าการศึกษาควรหันมามองในอีกปลายด้านหนึ่งคือ การศึกษาทำหน้าที่สร้างความยุติธรรมและสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม
การศึกษาเป็นสิ่งทีสัมพันธ์กับระบบ ระบบดังกล่าวเขาได้ให้ภาพว่าเป็น ระบบของลัทธิวัตถุนิยม ที่นิยมส่งเสริมให้คนเกิดความแข่งขันกัน เอาเปรียบระหว่างกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่ขาดสันติธรรม ลักษณะเช่นนี้ได้ทำให้มนุษย์ถูกครอบงำจนเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เขาอธิบายว่าการศึกษาจึงเป็นเสมือนเครื่องมือชั้นดีของระบบ การศึกษาทำหน้าที่ผลิตมนุษย์ให้เป็นทาสแก่ระบบ เห็นดีเห็นชอบกับปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ชมชอบกับการแข่งกัน ขาดมิติการเชื่อมโยงปัญหา ตลอดจนการหลงติดในวัฒนธรรมแบบทุนนิยม ลักษณะการรับรู้เช่นนี้เรียกว่า “เอกลักษณ์ครอบครอง” นำมาสู่การเกิดปัญหาในระดับปัจเจกคือตัวปัจเจกยึดติดในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง
ปลายทางออกของเขาจึงเสนอให้เริ่มที่ตัวปัจเจกในฐานะที่เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเขาเห็นว่าทางออกที่สำคัญของการทำลายระบบเดิมที่เป็นอยู่นั้น คือการที่สร้างให้มนุษย์เกิดการตระหนักรู้ในการมองเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม มองเห็นปัญหาเอารัดเอาเปรียบ การไม่ยึดติดในวัตถุนิยม ซึ่งเขาเรียกการตระหนักรู้เช่นนี้ว่า “ การรู้เท่าทันในระดับสูง” เขาเชื่อว่าหากมีการรู้เท่าทันในระดับที่สูงจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นอยู่ เกิดเป็นสังคมใหม่ที่วางอยู่บนฐานของสันติภาพ และปลดปล่อยให้มนุษย์ในฐานะปัจเจกได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง แต่ถึงกระนั้นตัวเขาก็ยอมรับว่าการรู้เท่าทันในระดับสูงไม่ได้มีความคงเที่ยงตลอดเวลา หากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่า การรู้เท่าทันในระดับสูงอาจเปลี่ยนมาสู่การรู้เท่าทันในระดับต่ำได้เช่นกัน และสามารถกลับมาเป็นทาสของระบบ
เขาเห็นการศึกษาที่ดำรงอยู่ในระบบมี 2 ลักษณะ ในลักษณะแรกเป็นการศึกษาแบบอนุรักษ์นิยม โดยครูเป็นผู้เล่นบทบาทแสดงอำนาจต่อนักเรียน ทำให้บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความกดดัน และสร้างความกลัวอยู่ตลอดเวลา ในทางตรงกันข้ามลักษณะที่สองเป็นการศึกษาที่มุ่งให้อิสรภาพต่อนักเรียน มุ่งส่งเสริมการอภิปรายโต้แย้งตลอดเวลา ถึงแม้การศึกษาทั้ง 2 จะเป็นลักษณะคู่ตรงข้ามกัน แต่ตัวเขาเห็นว่าการศึกษาทั้ง 2 ลักษณะยังเป็นการศึกษาที่รับใช้ระบบอยู่ดี โดยการศึกษาในแบบแรกเป็นการสร้างให้นักเรียนที่จบไปเป็นผู้ที่คอยรับใช้คอยรับฟังคำสั่ง ในขณะที่การศึกษาแบบทีสองเป็นการสร้างให้นักเรียนออกเป็นผู้นำที่เฉลียวฉลาดคอยออกคำสั่งต่อ ควบคุมผู้ที่มารับใช้ กล่าวได้อีกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีความรู้กับผู้ไร้ความรู้ ผู้มีสถานะเศรษฐกิจที่มั่นคงกับผู้ที่ไร้ความมั่นคงทางสถานะเศรษฐกิจ ทั้งหมดจึงเป็นการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันให้ดำรงอยู่ต่อไป ดังนั้นการศึกษาจึงกลายเป็นสินค้าที่ทุกคนต่างพยายามซื้อเอามาไว้ครอบครอง หากมีอำนาจทางเศรษฐกิจสูง มีสถานะดี โอกาสการครอบครองสินค้าหรือการศึกษาที่ดีก็คงไม่ยาก และนั้นก็ทำให้โอกาสที่จะกลายเป็นชนชั้นนำก็มีสูง ในทำนองเดียวกันหากมีฐานะทางเศรษฐกิจที่แย่ ก็สามารถทำได้เพียงสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ หรือการศึกษาที่ไร้คุณภาพ โอกาสที่จะขยับฐานะก็ยิ่งลดน้อยลง การได้ครอบครองสินค้าแบบใดจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสถานะทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในส่วนแรกจะเห็นเขาแสดงให้เห็นว่าการศึกษาได้เป็นตัวดำรงความไม่ยุติธรรมในสังคมเอาไว้ และกลับกลายเป็นตัวเพิ่มช่องว่างฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนและคนรวยให้ห่างออกไปยิ่งขึ้น แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ถูกบดบังด้วยเอกลักษณ์แบบครอบครอง ทางออกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงอาศัยบทบาทของครูในการรู้เท่าทันในระดับสูง ซึ่งจะกล่าวต่อไปถึงบทบาทครู หลักสูตร เพื่อการปลดแอกจากระบบตามทรรศนะของเขา
บทบาทครู หลักสูตร เพื่อการปลดแอกจากระบบ
ในส่วนนี้จะเป็นการศึกษาถึงกระบวนการของการจัดการศึกษาให้เกิดความรู้เท่าทัน โดยตัวเขาได้ชี้ว่าบทบาทครูคือสิ่งสำคัญหรือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะมุ่งให้เกิดปลดแอกจากระบบเดิม โดยเขาเริ่มต้นโดยการปฏิเสธสถาบันการผลิตครู เขาไม่เชื่อว่าสถานบันการผลิตครูจะได้ครูที่เป็นครูอย่างแท้จริง เขาเสนอว่าควรยกเลิกการมีสถานบันการผลิตครู แต่ควรเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่อยากเป็นครูมาสมัครเป็นครู โดยจะมีคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ดังนั้นในทรรศนะของเขาจึงมองว่าผู้ที่จะเป็นครูควรมีลักษณะที่สำคัญคือเป็น “ผู้ที่มีความรู้เท่าทันในระดับสูง” (ดังที่อธิบายไว้ในหัวข้อที่ผ่านมาเกี่ยวกับการรู้เท่าทันในระดับสูง ) นอกจากนี้เขาเห็นว่าบทบาทของครูมิใช่อยู่ที่การมีเทคนิคการสอนที่ดี ทั้งนี้เขาเห็นว่า สิ่งที่ได้จากการสอนมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือความรู้ แต่อีกด้านหนึ่งคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน” เป็นความสัมพันธ์ที่ครูแสดงพฤติกรรม ท่าที อารมณ์ความรู้สึกออกมาสู่นักเรียน เขาชี้ว่าหากครูมีเป็นผู้มีมนุษยธรรมมีความรู้เท่าทัน ไว้วางใจต่อผู้อื่น มั่นใจในตัวเอง สนใจในสติปัญญา นักเรียนจะเรียนรู้ลักษณะแบบนั้นไปด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเขาเห็นว่าท่าทีของครูมีผลต่อนักเรียน ซึ่งเขาก็เห็นว่าความสัมพันธ์ในระหว่างการเรียนการสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เขาได้อธิบายลักษณะความสัมพันธ์ให้ขัดขึ้นคือ 1)ครูและนักเรียนต่างเป็นผู้สอนและผู้เรียนรู้ ไม่ได้มีใครเป็นผู้ผูกขาดการสอนและการเรียนรู้ แต่ทั้งสองต่างเป็นผู้แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน 2)ครูต้องรู้เท่าทันความผิดพลาดของตัวเอง เขาได้อธิบายว่าหากครูมีความรู้เท่าทันในระดับหนึ่งแล้ว จะทำให้ครูไม่นำพาอารมณ์ด้านลบมาสู่การสอน และเคารพในความแตกต่างของนักเรียน 3)ครูควรเข้าใจว่าความรู้มิใช้สิ่งที่ตายตัว แต่ความรู้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ครูเป็นผู้ผูกติดกับความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง และไม่กล้าที่จะก้าวพ้นในการหาข้อเท็จจริงอื่น 4)ครูเป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้ไปไกลกว่าครู โดยที่ครูเป็นผู้ที่ทำให้นักเรียนก้าวเข้าไปเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้อื่นมากกว่าเรียนรู้จากครูเพียงแหล่งเดียว 5)ครูควรมีความหวังความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ตนกำลังทำ
นอกจากนี้เขาได้เสนอหลักสูตรการสอนสันติวิธี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งต้องอาศัยทั้ง 3 สิ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1. ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้มีความชั่วร้ายมาแต่กำเนิด แต่เกิดมาจากเหตุและผลบางอย่างที่เข้ามา และความเลวร้ายนั้นสามารถแก้ไขเยียวยาได้ เขาชี้ว่าความเลวร้ายนั้นสำหรับมนุษย์บางคนนั้นอาจเกิดจากเขาได้สูญเสียอะไรบางอย่างไป จึงทำให้ตนเองต้องปกป้องหรือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง จนกลายเป็นผู้กดขี่คนอื่นขึ้น
ในทำนองเดี่ยวกัน เมื่อผู้กดขี่ไม่ใช่ผู้เลวร้ายตลอดไป ผู้ถูกดขี่ก็ไม่ใช่ผู้ดีเลิศเสมอไป เขามองว่าแม้กระทั้งผู้ถูกดขี่หลายคนก็เป็นผู้กดขี่ด้วย เมื่อเกิดการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นผู้ถูกกดขี่อาจกลับกลายเป็นผู้กดขี่ขึ้นมาทันที ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ไม่สามารถปลดปล่อยได้ เขาเห็นด้วยกับคานธี[1]และแฟร์[2]ว่า การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เป็นการไปกดทับหรือเหยียดหยามความเป็นมนุษย์อีกฝ่าย แต่เป็นการยกความเป็นมนุษย์ของทั้งฝ่ายผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ให้สูงขึ้นด้วย การมองถึงความเป็นมนุษย์และเคารพความเป็นมนุษย์ สิ่งนี้ที่เขาเชื่อว่าจะนำไปสู่การปลดปล่อยที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง
2. การศึกษาบทเรียนการเปลี่ยนแปลงสังคม เขาเสนอว่าครูและนักเรียนต้องร่วมกันศึกษาการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ จับประเด็น และสามารถสังเคราะห์หลักการการต่อสู่ขึ้นมา
3. การลงมือปฏิบัติ จากทั้งสองข้อที่กล่าวเป็นเพียงในเชิงหลักคิด ซึ่งเขาเห็นว่าต้องอาศัยการปฏิบัติควบคู่ไปด้วย โดยอาจเรียนรู้เข้าไปในประสบการณ์ตรง แต่หากไม่มีสถานการณ์จริงเกิดขึ้น การเล่นบทบาทสมมุติ การอภิปราย การร่วมกลุ่มพูดคุยกับคนที่มีความแตกต่างทางศาสนา เชื่อชาติ หรือกลุ่มทางสังคม เพื่อให้เห็นปัญหาทีเกิดขึ้นและนำไปสู่การปฏิบัติ
บทส่งท้าย
การศึกษาเพื่อความเป็นไท เป็นการศึกษาทีมุ่งปลดปล่อยให้มนุษย์หลุดพ้นจากความเป็นทาสของระบบ หลุดพ้นจากการเอาเปรียบ การขัดแย้ง การตกอยู่ในวัตถุนิยม ตลอดจนตกอยู่ภายใต้ของนิยมชมชอบในการแข่งขัน การศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ทำให้เห็นภาพรวมของโครงสร้างทางการศึกษาที่สัมพันธ์กับระบบสังคมที่เป็นอยู่ การให้ความสำคัญกับครูในฐานะผู้เปลี่ยนแปลง ถึงท้ายที่สุดแล้วบริบทโลกได้เข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร เป็นยุคของการเปิดรับกับความหลากหลาย สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้บริบทของการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน แนวความคิดการศึกษาของอดัม จะสามารถปลดปล่อยความเป็นไทของมนุษย์ยุคนี้ได้อย่างไร หรือเราควรพิจารณาการศึกษาเพื่อความเป็นไทอย่างไรให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทเหล่านี้
[1] ผู้นำการต่อสู่เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษให้แก่อินเดีย
[2] นักการศึกษาบราซิล ผู้เสนอแนวความคิด การศึกษาสำหรับผู้ถูกดขี่
เอกสารอ้างอิง
อดัม เคิล. แปลโดย วิศษฐ์ วังวิญญู. (2538). การศึกษาเพื่อความเป็นไทย Education for Liberation. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก.