พีระศิน ไชยศร
“มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”
นับถึงวันนี้ (10 ธันวาคม) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2560) ก็ได้ประกาศใช้มีอายุยืนยาวมากว่า 284 วันแล้ว แต่หากจะย้อนกลับไปถึงแรกเริ่มมีรัฐธรรมนูญสำหรับสยามประเทศของเรานั้น คงต้องย้อนไปไกลถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2475 กฎหมายสูงสุดเทียบเท่า “Constitution” หรือรัฐธรรมนูญในนามของ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ.2475” ได้ถูกประกาศใช้ขึ้น ก็นับเป็นเวลายาวนานกว่า 85 ปีแล้ว แต่ด้วยความที่ Constitution ฉบับแรกนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกมุ่งหมายให้อยู่ยงยืนยาวสถาพร หากแต่ถูกทำให้เป็นของชั่วคราวใช้ไปพลางก่อน ความสำคัญรวมไปถึงภาพจดจำในฐานะของรัฐธรรมนูญไทยจึงเปลี่ยนไปอยู่ในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม อันเป็นวันระลึกการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของสยามประเทศ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างอันสง่างามกลางถนนราชดำเนินที่ถูกเนรมิตในอีก 7 ปีต่อมา ซึ่งก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญในระดับสากลได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นหรือแหล่งสถาปนาอำนาจรัฐ ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญยังเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่สิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงสิทธิทางการเมือง ที่รัฐธรรมนูญจะต้องให้ความคุ้มครอง เนื่องจากผู้ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนมีฐานะและอำนาจที่เหนือกว่าเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองการปกครองและการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการป้องกันการใช้อำนาจในการที่จะเป็นไปเพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
รัฐธรรมนูญคุ้มครองทุกคนเสมอหน้า
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นใดที่มีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะถูกตราขึ้นก่อนการมีรัฐธรรมนูญก็ตาม บทบัญญัตินั้นถือว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้ และในความที่เป็นกฎหมายสูงสุดนี้ รัฐธรรมนูญยังต้องให้ความคุ้มครองแก่ทุกคนอย่างเสมอภาค โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเพศ อายุ การศึกษา ศาสนา ชาติกำเนิด และอื่นๆ ทั้งนี้ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่า รัฐธรรมนูญที่ดีควรให้ความคุ้มครองเฉพาะบุคคลสัญชาติเฉพาะของประเทศเจ้าของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือควรที่จะขยายขอบเขตออกไปให้ความคุ้มครอง “ทุกคน” รวมไปถึงชาวต่างชาติ ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ หรือที่เรียกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ สิ่งที่พอจะเป็นตัวแทนของความเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สำหรับมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ที่เหมาะสมที่สุดเห็นควรจะเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี 1948[1]
รัฐธรรมนูญไทยคุ้มครองทุกคนเสมอหน้าจริงหรือไม่?
จากการสำรวจบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา พบว่ามีรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน และพบว่ามีรัฐธรรมนูญ 8 ฉบับ ที่ไม่ปรากฎบทบัญญัติดังกล่าว โดยมีข้อสังเกตว่า มีเพียงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเท่านั้น ที่มีบทบัญญัติในการให้ความคุ้มครองทุกคนอย่างเสมอหน้าที่กินความหมายได้ครอบคลุมที่สุด “มาตรา 4 (วรรคท้าย) ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” (ราชกิจจานุเบกษา, 2560) ส่วนอีก 11 ฉบับที่มีบทบัญญัติดังกล่าว กับกล่าวไว้อย่างมีเงื่อนไขไปในทำนองเดียวกันที่ว่า ประชาชน (บุคคล) ไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมได้รับความคุ้มครองในรัฐธรรมนูญเสมอกัน การที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนชาวไทยอย่างเสมอหน้ากัน ดังนั้นเงื่อนไขเดียวที่บังคับให้รัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองแก่บุคคลใดๆ จึงมีเพียงแค่การเป็น “ประชาชนชาวไทย” โดยไม่ต้องคำนึงในเรื่องอื่นๆ อีก นับเป็นบทบัญญัติที่ชัดเจนในนิยามของความเป็น “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” ที่ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้อีก แต่นี่คือตัวบทกฎหมาย ที่เป็นถ้อยความถ้อยคำที่ถูกบัญญัติขึ้น หากแต่ในสภาพความเป็นจริง (ผู้ใช้)รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองประชาชนชาวไทยทุกคนจริงหรือ โดยเฉพาะในนามของผู้ถูกกดขี่ที่ถูกแฝงตัวอยู่ภายใต้สถานภาพต่างๆ ในสังคม
รัฐธรรมนูญคุ้มครองทุกคนเสมอหน้า เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน
เป็นไปได้อย่างไรที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นได้คุ้มครองทุกคนอย่างเสมอหน้า แต่บทบัญญัตินี้กลับไม่สามารถบังคับใช้ได้ถ้าหากว่าบุคคลผู้นั้นอยู่ในสถานภาพของความเป็นนักเรียน (รวมไปถึงนักศึกษา) เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ฆ่าข่มขืนเด็กวัยสิบสี่ เรารู้สึกอย่างไรเมื่อแม่เลี้ยงใจร้ายทุบตีลูกชายที่ไม่ยอมเชื่อฟัง เรารู้สึกอย่างไรเมื่อนักศึกษาสาวถูกฆ่าเพราะพิษรักแรงหวง เรารู้สึกอย่างไรเมื่อนักเรียนเตรียมทหารถูกกระทำการธำรงวินัยจนถึงแก่ความตาย สิ่งที่ทุกคนรู้สึกตรงกันคือความโกรธแค้นที่มีต่อผู้กระทำ มีความพยายามในทุกวิถีทางที่จะให้คนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุได้รับผลตัดสินลงโทษจากเหตุที่ได้ก่อขึ้นตามกระบวนการของกฎหมาย นั้นหมายถึงความเป้นธรรมที่ผู้ถูกกระทำได้รับอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ
กรณีเดียวกัน เรารู้สึกอย่างไร หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีสถานภาพเป็นนักเรียน ซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่กว่าครึ่งค่อนวันอยู่ในโรงเรียน เรารู้สึกอย่างไรเมื่อครูใช้ไม้พลองลูกเสือฟาดหลังนักเรียนอย่างรุนแรงในการลงโทษ เรารู้สึกอย่างไรเมื่อครูสามารถด่าบุพการีของนักเรียนได้อย่างสบายใจในนามของความเป็นครู เรารู้สึกอย่างไรเมื่อครูขว้างปาข้าวของใส่นักเรียนจนได้รับบาดเจ็บ เรารู้สึกอย่างไรกันบ้าง ทั้งที่การกระทำดังกล่าวถูกกระทำในนามของความเป็นครู ในนามของการศึกษา การทำร้ายร่างกายได้รับการคุ้มครองในนามของ “การอบรมสั่งสอน” การพูดจาหมิ่นประมาทได้รับการคุ้มครองในนามของ “ความหวังดี” การละเมิดผู้อื่นได้รับการคุ้มครองในนามของ “การรักษาไว้ซึ่งมารยาทและความเคารพนอบน้อม” การลงโทษทางร่างกายและจิตใจได้รับความคุ้มครองในนามของ “การเรียนรู้ประสบการณ์และการเผชิญโลกกว้าง” เพราะเหตุใดการกระทำดังกล่าวของ “ผู้กระทำ” ในนามของการศึกษา ในนามของความเป็นครู จึงได้รับการคุ้มครอง แทนที่จะเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้ถูกละเมิด ซึ่งก็คือ “นักเรียน” ซึ่งควรจะได้รับการคุ้มครอง ในมาตรฐานเดียวกันกับการกระทำความผิดทางอาญาดังที่กล่าวมาข้างต้น เพียงแค่เพราะความผิดเกิดขึ้นภายในโรงเรียน นั่นหมายถึงโรงเรียนเป็นพื้นที่ยกเว้นการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพียงแค่เพราะผู้กระทำความผิดเป็นครูในนามของการอบรมสั่งสอน นั่นหมายถึงรัฐธรรมนูญยกเว้นการอบรมสั่งสอนจะกระทำการละเมิดใครอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ เพียงแค่เพราะนักเรียนไม่ใช่ประชาชนผู้มีสิทธิเสรีภาพ เป็นเพียงเด็กน้อย นั่นหมายถึงรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความคุ้มครองทุกคนเสมอหน้าอย่างแท้จริงใช่หรือไม่
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือโรงเรียนส่วนใหญ่มีโครงสร้างแบบอำนาจนิยม ส่งผลให้ครูจำนวนมากมีพฤติกรรมใช้อำนาจกับเด็กเกินเลย[2] การลงโทษทุบตี การทำร้ายร่างกาย การดุด่าว่ากล่าว การใช้คำหยาบคาย การดูหมิ่นดูแคลน การละเมิดสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของนักเรียน ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งการตัดผม ยึดถุงเท้า ตัดกระโปรง อันเป็นการละเมิดในทรัพย์สิน กลับกลายเป็นเรื่องปกติในนามของความเป็นครู การศึกษาและการอบรมสั่งสอน ยิ่งไปกว่านั้นครูจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยังน้อยไปด้วยซ้ำสำหรับการลงโทษนักเรียนที่ไม่มีคุณสมบัติของความเป็นนักเรียนที่ดีตามที่บรรดาครูทั้งหลายได้สร้างขึ้นและต้องการให้เป็น ซ้ำร้ายที่สภาองค์กรวิชาชีพก็ไม่สามารถเข้ามาให้ความคุ้มครองอะไรกับผู้ที่เป็นนักเรียนได้เลย
สิ่งเหล่านี้รัฐธรรมนูญไทยไม่เคยให้ความคุ้มครอง เราไม่เคยเห็นครูคนใดถูกจับข้อหาลักทรัพย์ เพราะริบถุงเท้านักเรียน หรือตัดกระโปรงทำให้เสียทรัพย์ เราไม่เคยเห็นครูคนใดติดคุกเพราะทำร้ายร่างกายนักเรียนจนได้รับบาดเจ็บจากการใช้ไม้เรียวกระหน่ำฟาดลงไปที่ก้นและแผ่นหลัง เราเห็นกันแต่เพียงเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ถูกกระทำ ที่ทำได้เพียงแค่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากสถานศึกษา หรือหน่วยงานการศึกษา ซึ่งผลที่ได้มีเพียงไม่กี่ทาง คือย้ายครู ตั้งกรรมการสอบวินัย ลดขั้นเงินเดือน หรือแค่ไล่ออก ต่อให้มีการดำเนินคดี ทุกครั้งก็จะมีความพยายามในการไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ก็เพราะในนามของความเป็นครู
แต่เมื่อคราวที่ครูกลายเป็นผู้ถูกกระทำบ้าง เช่นกรณีปัญหาของใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2559 และ 11/2559 ที่รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางกลับคืนไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ทำลายหลักการของเจตนารมย์ของกฎหมายว่าด้วยการศึกษาชาติ กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคคลกรทางการศึกษา อันเกิดขึ้นมาจากการปฏิรูปการศึกษาในยุคที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้วางรากฐานเรื่องการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาเอาไว้ ครูทั้งหลายกลับตื่นตัว และนี่อาจจะเป็นสิ่งเดียว ที่ทำให้บรรดาครูทั้งหลายโดยเฉพาะข้าราชการครู ต้องออกมาต่อสู้ แสดงความไม่เห็นด้วย รวมไปถึงการต่อต้าน หรือขบถต่อคำสั่งเหนือรัฐธรรมนูญนี้[3] รวมทั้งเรียกร้องขอความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญให้แก่ตนเอง โดยที่ไม่เคยคิดที่จะให้ความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นแก่นักเรียน ผู้ซึ่งไม่เคยได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเลย
เชิงอรรถ
[1] ดูเพิ่มเติมที่ http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/udhr-th-en.pdf
[2] ธเนศ รัตนกุล. School of Violence ‘นักเรียน’ และ ‘ครู’ อยู่บนเส้นขนานความรุนแรงเดียวกัน. เข้าถึงเมื่อ 9 ธันวาคม 2560. เข้าถึงได้จาก https://thematter.co/byte/school-of-violence-and-overlooked-crisis/9409”. 2559.
[3] ข่าว “ผอ.สพป.โครราช 7 แจงปฏิเสธร่วมงานประดับอินทรธนูครูบรรจุใหม่ เหตุ ‘ศธจ.’ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาครูโดยตรง” ดูเพิ่มเติมที่ https://www.matichon.co.th/news/743259 และ ข่าว “ชมรม ผอ.สพท.ต้านโครงสร้าง ศธจ.ล่า 5 หมื่นชื่อจี้ รมว.ศธ.คืนอำนาจเขตพื้นที่ฯ” ดูเพิ่มเติมที่ https://www.matichon.co.th/news/744931