อรรถพล ประภาสโนบล
แด่วันครู 16 มกราคม
1) ความเป็นครูของเราถูกสอนให้มองความรู้ที่กำลังถ่ายทอดว่ามี “ความเป็นกลางและสากล” ความรู้ที่เรากำลังถ่ายทอดเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอนแล้ว เราจึงมองความรู้เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นชอบแล้ว และเป็นที่ควรแก่การส่งต่อให้แก่นักเรียน แต่แท้จริงแล้วความรู้ไม่ได้มีความเป็นกลางและสากลตามทรรศนะของหลังสมัยใหม่ ความรู้ได้ซ่อนอคติ ความรู้คืออำนาจ ดังที่เราเห็นได้ชัดในวิชาสังคมศึกษา ความรู้เหล่านั้นได้ส่งผลต่อการสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมเอาไว้
2) ความเป็นครู ได้สร้างภาพตัวแทนในแบบเดียว คือ “ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ” แม่พิมพ์ที่ยึดโยงกับการเป็นข้าราชการ ความเป็นครูจึงเท่ากับข้าราชการอย่างนั้นใช่หรือไม่? ในพื้นที่คณะศึกษาศาสตร์ ความเป็นครูจึงไม่มีภาพตัวแทนอื่นๆที่ถูกเล่า เรื่องราวของครูจึงอยู่ภายใต้เรื่องเล่าหลักคือครูคือแม่พิมพ์ของชาติ เรานึกดูก็ได้ว่าเวลานึกถึงครูเราจะชอบนึกถึงคำนี้ทันที พร้อมๆกับมีภาพของข้าราชการประกอบทันที สิ่งนี้คงเป็นคำถามต่อความเป็นครูว่าแท้จริงคืออะไรกันแน่
3) กระบวนทัศน์ของความเป็นครูในศึกษาศาสตร์ที่เป็นอยู่ จึงเป็นกระบวนทัศน์ “ครูในเชิงเทคนิค” คือครูที่ที่คิดค้นหาวิธีการป้อนความรู้ให้แก่ผู้เรียนในรูปแบบต่างๆ แล้วทำการติดตามตรวจสอบผลลัพธ์ของความรู้นั้นว่าป้อนสำเร็จหรือไม่ กระบวนทัศน์แบบนี้จึงเป็นกระบวนทัศน์ที่ทำให้ความสำคัญกับเทคนิควิธีเป็นสำคัญ มากกว่าการวิพากษ์ตัวความรู้ ความเป็นครูที่เราถูกสอนจึงไม่มองความรู้ผ่านใน “มิติวัฒนธรรมและการเมือง” เมื่อเป็นเช่นนี้ ครูจึงไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและวัฒนธรรม ความรู้ในสายตาครูเชิงเทคนิคจึงเป็นความรู้ที่ค่อนข้างใสบริสุทธิ์
ในสังคมหลังสมัยใหม่...
1) ความเป็นครูที่กำลังสร้างขึ้น ควรทำให้ครูมองเห็นว่าตนอยู่ในสังคมที่เป็น “พื้นที่ของอำนาจ” พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของการต่อสู้วัฒนธรรมและการเมือง ความรู้ที่ครูมองจึงเป็นควรมองว่าเป็นเครื่องมือของอำนาจ ความเป็นครูหลังสมัยใหม่จึงควรขยับไปสู่ “ครูในฐานะผู้ปลดปล่อย” กล่าวคือ สามารถตระหนักว่าตนอยู่พื้นที่ของอำนาจ และทำการตั้งคำถามต่อความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ มิเช่นนั้นครูจะกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม ดังนั้นครูในฐานะผู้ปลดปล่อยจึงเป็นครูที่เป็นผู้สร้างหรือร่วมสร้างวาทกรรมใหม่ในพื้นที่ของการต่อสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น
2) ความเป็นครูเป็นสิ่งที่ควรถูก “เล่าเรื่องให้หลากหลายขึ้น” การเล่าครูในแบบอื่นที่หลากหลายย่อมเปิดที่เปิดทางให้กับความเป็นครูในภาพแบบอื่นๆได้มีพื้นที่มากขึ้น การเล่าที่หลายหลายเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดการตั้งคำถามกับความเป็นครูในกระแสหลักที่เป็นภาพเดียวมากขึ้นเป็นแน่ ความเป็นครูในสังคมหลังสมัยใหม่ควรตระหนักให้สำคัญว่าความรู้คืออำนาจที่เกิดขึ้นมีทั้งด้านที่กดทบและสร้างสรรค์ การสะท้อนวิพากษ์ต่อความรู้จึงเป็นคุณค่าในการกระทำ
หมายเหตุ : ข้อเขียนทั้งหมดกล่าวไว้ในงานพลเรียนเสวนา "การศึกษาในสังคมหลังสมัยใหม่" วันที่ 23 เมษายน 2559