ข้อท้าทายครูรุ่นใหม่ในประเทศที่มีแค่ “ปลา” เป็นเพียงคำตอบเดียว

ข้อท้าทายครูรุ่นใหม่ในประเทศที่มีแค่ “ปลา” เป็นเพียงคำตอบเดียว 

อรรถพล ประภาสโนบล


เกริ่นนำ 
การศึกษาคือการกระทำทางการเมือง การศึกษาจึงจำต้องมี “ความจงใจของการกระทำ” ที่เป็นแนวทางชัดเจนในการกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ ทักษะความรู้ใดที่ผู้เรียนควรมี และที่สำคัญคือความจงใจที่จะกำหนดคำอธิบายของการอธิบายสังคมและโลกเอาไว้ โดยเป็นการกระทำที่ทำซ้ำเป็นวงจรเป็นกิจวัตร และสร้างการจำยอมต่อคนรุ่นใหม่ให้ยอมรับความสำเร็จของคนรุ่นเก่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเรียนรู้ในสิ่งที่คนรุ่นเก่ากำหนดเอาไว้ให้ การศึกษาเลยไม่ใช่การสร้างอนาคตของคนรุ่นใหม่ แต่กลับเป็นการปล้นและรื้อโลกของคนรุ่นใหม่ไปเสียด้วยซ้ำ หรือกล่าวอีกแบบการศึกษากำลังทำให้เชื่อว่าเรามีชีวิตรอดได้จะต้องเดินตามอุดมการณ์ของโลกใบเดิมต่อไปไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม 

ครูคือแขนขาที่สำคัญของการขับเคลื่อนอุดมการณ์หลักจากกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นรูปธรรมที่มีการกระทำที่ชัดเจนที่สุด ดังที่ Louis Althusser มองว่าครูมีบทบาทของการเป็นตัวแทนในการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ของการขูดรีดและธำรงระบบคุณค่าของชนชั้นนายทุนเอาไว้ การศึกษาจึงไม่ได้มีความเป็นกลางทั้งยังปราศจากอุดมการณ์ บทบาทของครูจึงมีความสำคัญในการทำความเข้าใจการศึกษาให้มากกว่าการเป็นเรื่องเทคนิค แต่การศึกษาเป็นเรื่องของชะตากรรมชีวิตของคนในสังคม ข้อท้าทายที่สำคัญก็คือว่าครูรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญหน้ากับระบบจะเลือกยืนอยู่ข้างของการปิดประตูความหวังเอาไว้หรือทุบประตูของโลกใบเดิมเพื่อสร้างความเป็นไปได้ในแบบใหม่ 













ถ้าเป็นปลาก็ไม่อยากปีนต้นไม้ แต่ถ้าจะมีชีวิตรอดก็ต้องไปหาปลา
เราก้าวเข้าสู่ยุคที่การศึกษาไม่ใช่เรื่องของพื้นที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มันได้ขยับพื้นที่ของโรงเรียนให้มีหลังคาร่วมกันของคนทั้งสังคมและโลก การเรียนไม่จำเป็นต้องเดินไปหาครูที่โรงเรียน แต่เป็นใครก็ได้ที่ผู้เรียนทำการเลือก(คลิก)เรียนผ่านชุมชนออนไลน์ เวลาของการเรียนไม่ได้มีเส้นแบ่งอย่างชัดเจนดังที่เคยถูกเรียงไว้เป็นชั่วโมง การศึกษาจึงมีลักษณะของความยืดหยุ่น เสรี และสามารถพกพาไปได้ทุกที่และเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ความสัมพันธ์ของการเป็นผู้สอนกับผู้เรียนอาจเป็นเพียงชื่อเรียกในนาม ในทางปฏิบัติผู้สอนอาจเป็นผู้ทีอยู่ในห้องเรียนของโลกเสมือน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กำลังดำเนินไปของโลกดิจิตอล 

ห้องเรียนในโลกดิจิตอลได้ทุบทำลายผนังลงไป โลกของห้องเรียนเลยเป็นโลกที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ผู้เรียนสามารถกระโดดเข้าไปเรียนในห้องเรียนแต่ละที่ได้อย่างง่ายดาย ผ่านตามหน้าเพจ หน้าเว็บไซต์ ชุมชนในสื่อสังคมออนไลน์ รวมแม้กระทั้งยูทูป การมีห้องเรียนที่กว้างขึ้นเช่นนี้ ได้ทำให้การเรียนไม่ได้ถูกกำหนดจากใครได้โดยง่าย เป็นการเรียนที่ผู้เรียนเป็นองค์อธิปัตย์หรือได้ใช้อำนาจในการเลือกเรียนได้อย่างเต็มที่ที่จะสามารถสถาปนาขอบเขตและทิศทางของการเรียนรู้ไว้ในเพียงปลายนิ้วมือที่สัมผัส สิ่งที่เกิดขึ้นได้ท้าทายมโนทัศน์ “ การศึกษาแบบฝากธนาคาร” (Banking Education) สำคัญของ Paulo Freire ที่มองว่าการศึกษาแบบฝากธนาคารได้ทำให้เป็นนักเรียนเป็นเหมือนธนาคารที่ที่ครูเอาความรู้มาฝาก 

แต่ถึงกระนั้นการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาระบบทุนนิยมที่เรียกว่า “ทุนนิยมสัญญะ” ระบบดังกล่าวได้กระตุ้นให้มนุษย์ต้องทำตอบสนองต่อสัญญะที่ผลิตมาล้นเกินอยู่ตลอดเวลา มนุษย์กลายเป็นผู้ที่ถูกให้เป็นผู้สร้างและผู้บริโภคชุดข้อมูลอยู่ตลอดเวลา การเผชิญหน้ากับสัญญะและชุดข้อมูลที่รวดเร็วแบบ “Real time” ได้ทำให้การคิดไตรตรองต่อเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นลดลง พูดอีกแบบระบบทุนนิยมสัญญะกำลังลดทอนความสามารถการใช้เหตุผลของมนุษย์ ไม่สามารถประกอบสร้างตัวตนของตนเองได้ชัดเจน 

กล่าวคือถึงแม้ผู้เรียนมีเสรีภาพทางเลือกในการเรียนมากขึ้น ที่ไม่ถูกควบคุมโดยโรงเรียน แต่ทางเลือกดังกล่าวกำลังช่วยให้ผู้เรียนหลุดพ้นสัญญะของระบบทุนนิยมที่ถูกส่งผ่านห้องเรียนใบใหญ่ได้หรือไม่ การแสดงออกทางตัวตนกำลังเป็นการแสดงออกที่ผู้เรียนอยากจะเป็นหรือเป็นการถูกกำหนดโดยทุนนิยมสัญญะ ในบทความนี้จึงอยากเสนอให้เราควรกลับมาคิดทบทวนโรงเรียน การเรียนการสอน และการศึกษาตามทฤษฏีการศึกษาเชิงวิพากษ์(Critical Pedagogy) เพื่อทำความเข้าใจบริบทที่เปลี่ยนไป ข้อเสนอที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จึงไม่ใช่การมองมโนทัศน์ “การศึกษาแบบฝากธนาคาร” ในฐานะที่เป็นเทคนิควิธีการซึ่งจะทำให้ข้อวิพากษ์หยุดอยู่ที่การเปลี่ยนรูปแบบการเรียน แต่ควรทำความเข้าใจการศึกษาแบบฝากธนาคารในฐานะที่เป็นหลักสูตร กล่าวหลักสูตรคือวาทกรรม เป็นการเวทีของการต่อรองเพื่อยื้อแย่ง ความรู้ในหลักสูตรเลยเป็นการแข่งขันกันว่าความรู้ใดจะเข้าไปมีบทบาทอยู่ในหลักสูตร แข่งขันกันเพื่อให้ความรู้ของกลุ่มตนถูกเรียกว่าเป็น “ความรู้แบบทางการ” และทำการครอบครองทางความคิดของสังคมเอาไว้ 

หากย้อนพิจารณาถึงวาทกรรมปฏิรูปการศึกษาและหลักสูตรของไทย ที่ชอบเอ่ยว่า “ปลาไม่ควรปีนต้นไม้” ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้เกิดหลักสูตรที่ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ตามความถนัดของตนเองและยังสอดคล้องกับการเรียนรู้ในยุคดิจิตอลที่มุ่งค้นคว้าได้อย่างเสรี แต่การเอ่ยเช่นนั้นกลับเป็นการลดทอนการศึกษาให้เป็นเรื่องเทคนิค แท้จริงเราควรตั้งคำถามต่อไปว่า สังคมและระบบการศึกษาได้มีสระ บ่อน้ำ หรือมหาสมุทร ที่จะทำให้ปลาไม่ต้องไปปีนต้นไม้หรือไม่ หรือกล่าวอีกแบบว่า สังคมและระบบการศึกษาได้เอื้อและสนับสนุนต้นทุนทรัพยากรของผู้เรียนได้พอที่ผู้เรียนคนหนึ่งอยากจะเลือกชีวิตในแบบที่เป็น หรือกำลังปล่อยให้ผู้เรียนต้องหยิบต้นทุนทางสัญญะที่ต้องจ่ายมาสวมเสมือนว่าเป็นตัวตนของตัวเอง เพื่อสร้างโอกาสและการต่อรองของการมีทางเลือกในชีวิตที่มีอยู่ไม่มาก ดังความเห็นของ Peter McLaren ที่มองว่าการพูดถึงความจำเป็นพื้นฐานของผู้เรียน ไม่ใช่พูดในแง่ชีววิทยา แต่การกีดกันและการกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไม่ธรรมต่างหาก ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดปัญหาหรือไม่เข้าไม่ถึงความจำเป็นพื้นฐาน

สิ่งนี้ก็คงไม่ต่างจากการที่นำเอาเรื่องราวของผู้ประสบผลสำเร็จที่ไม่ผ่านระบบการศึกษามาขายเป็นสัญญะในรูปแบบหนึ่งว่าผู้เรียนจะมีโอกาสในแบบนั้นได้ แต่ในความจริงการที่จะแหวกว่ายออกไปอยู่นอกอ่างเพื่อให้มีลมหายใจ จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายหรือทุนที่มากพอสำหรับที่จะต่อยอดลมหายใจ และที่สำคัญยังสร้างสัญญะความสำเร็จของการมีสัญญะไว้ไม่กี่แบบ หรือทำให้เชื่อว่าชีวิตต้องมีความสำเร็จ การมีความสำเร็จคือคำตอบของชีวิต ดังประโยคสุดคลาสสิคที่กล่าวว่า “ หากคุณให้ปลาเขาจะมีปลาเพียงวันเดียว แต่หากคุณสอนเขาจับปลาเขาจะมีปลากินตลอดชีวิต” ทำไมปลาถึงกลายเป็นสัญญะของมีชีวิตขึ้นมา ทั้งๆที่เราน่าจะมีทางเลือกของอาหารทางเลือกของชีวิตในแบบอื่น

การสอนให้มีวิธีจับปลา หากเปรียบก็คงคล้ายกับการเรียนที่ผู้เรียนเป็นผู้รับเอาความรู้ การถกเถียง และการมีโอกาสในการสร้างสรรค์การประดิษฐ์วิธีการแบบใหม่จึงเป็นเรื่องยากมาก แนวคิดการเรียนแบบ “Active Learning” ที่เกิดเป็นกระแสในแวดวงการศึกษาของไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คงจะช่วยให้เราหักล้างว่า เราไม่ควรสอนให้เขาจับปลา เราต้องสร้างให้เขาจับปลาด้วยวิธีการของเขา แต่Herny Giroux เห็นว่า"เราไม่ควรจะมองว่าความรู้ เป็นแค่เพียงการสั่งสมให้ได้มาซึ่งข้อมูล แต่เป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ตกอยู่ท่ามกลางค่านิยมและผลประโยชน์" หากนำมาพิจารณาต่อจะพบข้อสังเกตว่า แนวคิดการเรียนแบบ Active Learning ดังกล่าวกำลังช่วยตอกย้ำและรักษาผลประโยชน์ของชุดคุณค่าเดิมเอาไว้ให้ง่ายขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ทำไมเราต้องมีคำตอบอยู่เพียงแค่ปลาเพียงอย่างเดียว สิ่งนี้ก็เป็นการเรียนที่ Active แต่ต้องไปจบที่ลำธารเพื่อจับปลาเท่านั้น การออกนอกลู่นอกทางในคำตอบแบบอื่นจะกลายเป็นสิ่งที่ผิดแปลก เสมือนเป็นการถามได้ว่าจะจับปลาอย่างไร ขออุปกรณ์จับปลาได้ แต่อย่าถามว่าทำไมเราต้องจับปลากินเป็นอาหาร หรือหากถูกถามว่าจะมีชีวิตอยู่ด้วยอะไร ก็ต้องตอบว่าปลาเท่านั้น

ดังนั้นแล้วการสอนให้มีเพียงมีทักษะการจับปลาก็คงจะไม่พอ แต่การสอนควรพาผู้เรียนมองเห็นให้โลกความเป็นจริงที่มากกว่าโลกที่ถูกกำหนดให้เห็นว่ามีแค่ปลาในลำธาร หรือมีแค่ปลาที่เป็นอาหาร จากพลังของระบบทุนนิยมสัญญะที่ได้ปรับรูปแบบของระบบการศึกษาแบบดิจิตอลขึ้นมา ได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีเสรีภาพของการเลือกเรียนและไม่ตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบเดิม และสามารถเชื่อมต่อกับผู้เรียนรวมถึงข้อมูลความรู้ที่ข้ามรั้วโรงเรียน แต่ถึงอย่างไรการปรับเปลี่ยนดังกล่าวกลับกลายเป็นเพียงการปรับรูปแบบเชิงเทคนิค ข้อท้าทายที่สำคัญก็คือว่าระบบการศึกษาภายใต้ระบบทุนนิยมแบบสัญญะกำลังปลดปล่อยผู้เรียนให้เป็นอิสระอย่างแท้จริงหรือกำลังกักขังผู้เรียนที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม 

ความหวังและความเป็นไปได้ที่ไปให้ไกลกว่า “ปลา”
จากที่กล่าวมาทั้งหมดคือการสร้างสภาวะที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ลง การศึกษาควรก้าวไปกว่าการมองศึกษาแบบธนาคารในเชิงเทคนิค แต่จะต้องกอบกู้ความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่ โดยการสร้างการกระทำเชิงวิพากษ์ที่เปิดเผยให้เห็นสภาพความเป็นจริง ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียม มายาคติ ที่ถูกสร้างและครอบครองด้วยระบบโครงสร้างของชนชั้นผู้กดขี่เอาไว้ ดังที่ Peter Mclaren เห็นว่าการศึกษาต้องทำให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันกำลังอยู่ภายใต้การครอบครองทางความคิดชนิดใด และทำการท้าทายวิธีคิดปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างพลังให้กับเสียงที่เคยหายไป เช่นเดียวกับ Gramsci ที่มองว่าบทบาทของครูต้องท้าทายสามัญสำนึกเดิมที่เป็นความเชื่อสืบต่อกันมา และผนวกชีวิตทางสังคมของนักเรียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน 

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตอลที่ได้ปรับรูปแบบการเรียน ถือเป็นช่วงโอกาสสำคัญที่ครูจะต้องสร้างการศึกษาที่มีการสื่อสารและสนทนาถกเถียง เพื่อการทำให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเอ่ยเสียงแบบที่ตนอยากจะเอ่ยร่วมกันกับผู้เรียนคนอื่นผ่านการเชื่อมต่อโลกที่ตนเผชิญมาระหว่างกันแบบไม่สิ้นสุด ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้สติปัญญา ความรู้สึก และการแสวงหาความรู้และคำตอบร่วมกัน ในการวิเคราะห์สภาพความเป็นจริงที่มองเห็นว่าใครกำลังกำหนดชะตาชีวิตเราอยู่ และนำไปสู่การสร้างความรู้ สำนึกคิด คุณค่าร่วมที่เป็นของคนทุกคนในแบบใหม่ เป็นสัญญะที่ไม่ถูกสร้างมาเพื่อการกดขี่ระหว่างกัน ที่สำคัญลงมือกระทำการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมีความหวังและเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ 

“การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของการสอนวิธีจับปลา และไม่ใช่เพียงการบอกให้สร้างวิธีการจับปลาขึ้นมาด้วยตนเอง แต่การศึกษาเป็นเรื่องของการตั้งคำถามว่าใครกำหนดให้เราต้องจับปลาเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว และเราจะสร้างความเป็นไปได้ในแบบใหม่เพื่อหลุดจากการถูกกำหนดนี้ได้อย่างไร” 

เอกสารอ้างอิง 
- เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2560). Autonomia : ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการเมืองของ การปฏิวัติ. กรุงเทพมหานคร : Illuminations Editions. 
- เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2560). เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น ทฤษฎีมาร์กซิสต์ใน ศตวรรษที่ 21 .เชียงใหม่ : ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
- นงเยาว์ เนาวรัตน์. (2556). การศึกษาพหุวัฒนธรรมเบื้องต้น : เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันในศตวรรษที่ 21.เชียงใหม่ : คณะศึกษาศาสตร์. 
- เปาโล เฟรเร. (2559). การศึกษาของผู้ถูกกดขี่. แปลโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์, นลัท ตั้งพรพิพัฒน์ และ วิจักขณ์ พาณิช. กรุงเทพมหานคร : ปลากระโดน. 
- ศิวรักษ์ ศิวารมย์. (2551). สังคมศาสตร์การศึกษา. กรุงเทพ : สร้างสรรค์. 
- หลุยส์ อัลธูแชร์. (2557). แปลโดย กาญจนา แก้วเทพ. อุดมการณ์และกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์. 
- อรรถพล ประภาสโนบล. (2560). วิพากษ์วัฒนธรรมยุคดิจิตอลผ่านปรัชญาการศึกษาผ่านปรัชญา การศึกษาของเปาโล แฟร์ .วารสารปณิธาน ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2559. เชียงใหม่. ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.