ชัชวาลย์ งานดี
ซึ่งหากอ่านเนื้อหาโดยไม่ได้เปรียบเทียบข้อมูลก็อาจจะไม่พบข้อสังเกตหรือข้อสงสัยแต่อย่างใด แต่เมื่อได้ทำการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เท่าที่สามารถทำได้ และนำมาเปรียบเทียบกันกลับพบว่า อาณาจักรโบราณแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนา โดยเปลี่ยนจากพระพุทธศาสนามาเป็นการนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ดังกล่าวนี้มีการรับเอาศาสนาอิสลามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโบราณแห่งนี้ และพื้นที่ดังกล่าวย่อมมีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของคนที่นับถือศาสนาอิสลามเกิดขึ้นไปโดยปริยาย
แต่ทว่า ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กลับไม่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องราวของการรับ รวมทั้งการนับถือศาสนาอิสลามของคนในอาณาจักรแห่งนี้แม้แต่น้อย กลับมีเพียงแค่การยกย่องว่าดินแดนดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในบริเวณคาบสมุทรมลายูและมีการนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความเข้มข้นของการเป็นรัฐศาสนา (Religious state) ของประเทศไทยที่ยกย่องเชิดชูเพียงแต่พระพุทธศาสนา ได้กดทับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ลงไป ไม่มีแม้แต่การกล่าวถึง ทั้งในด้านประวัติศาสนา สังคมและวัฒนธรรม และเป็นที่สังเกตได้ว่า ประวัติศาสตร์ (กระแสหลัก) ของแต่ละภูมิภาคก็จะมีร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการนับถือพระพุทธศาสนาของคนไทยว่าล้วนแล้วแต่มีวัฒนธรรมร่วมรากกัน รวมไปถึงศาสนาพราหมณ์ที่มีไว้เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองการปกครองแบบกษัตริย์ของแต่ละอาณาจักร นอกเหนือจากนั้นก็แทบไม่ปรากฏพื้นที่ บทบาทหรือการมีอยู่ของศาสนาอื่นอีกเลย และด้วยอิทธิพลของแบบเรียนประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้ จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดในช่วงเวลาการทำกิจกรรมหน้าเสาธงหรือการเข้าแถวในตอนเช้านั้น จะปรากฏการกล่าวคำปฏิญาณตนในทำนองที่ว่า ว่า "...พวกเราเป็นไทยอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์..."
นอกจากเรื่องของศาสนาแล้ว ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยยังให้พื้นที่และให้ความสำคัญไปที่ข้อมูลของอาณาจักรโบราณในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของภาคกลางในปัจจุบันมากกว่าอาณาจักรโบราณในพื้นที่ของภาคอื่นๆ เห็นจากการที่ข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณในพื้นที่ภาคกลางนั้นได้รับการกล่าวถึงและมีปริมาณมากถึง 2-3 หน้ากระดาษ แต่กลับมีพื้นที่ในแบบเรียนเพียงไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษสำหรับข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณในพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งอาณาจักรโบราณต่างๆ เหล่านี้ ก็ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ และมีข้อมูลเนื้อหามากพอที่จะให้สามารถนำมาให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้และและทำความเข้าใจได้เช่นเดียวกับ แต่กลับไม่ได้รับพื้นที่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย
หากเรามองว่าการเรียนประวัติศาสตร์ คือ การทำให้เกิดความเข้าใจสังคมมนุษย์ในอดีตแล้วนั้นการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในแบบเรียนซึ่งนักเรียนหลายคนจะต้องอ่าน ควรที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมของคนทุกคน ทุกพื้นที่ ทุกวัฒนธรรมในประเทศไทย ให้ได้มีพื้นที่ปรากฎอยู่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยนี้ด้วย