โรงเรียนเป็นของเราจริงหรือ

โรงเรียนเป็นของเราจริงหรือ 
มิตรสหายนักเรียนท่านหนึ่ง

สถาบันที่เราทุกคนอาจเคยผ่านมาบ้างแล้ว คือสถาบันการศึกษา เป็นสถาบันที่เราหลายคนต้องเผชิญ ต้องเจอ ต้องพบ เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถของตัวเอง ซึ่งทุกคนอาจจะเคยได้ยินถ้อยคำที่ว่า “โรงเรียนเป็นของเราทุกคน” แล้วถ้อยคำนี้นั้นเป็นจริงหรือไม่? 

การเขียนบทความในครั้งนี้อาจจะมีการเขียนพาดพิงหรือกระทบบุคคลบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่มบ้าง อยากให้ผู้อ่านทุกคนนั้นพิจารณาเอาเองว่าควรอ่านหรือไม่ควรอ่านนะครับ 





หลายคนศึกษาในสถาบันศึกษาที่เรียนอย่างเดียว เรียนให้จำแล้วนำไปสอบ บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย เช่นเดียวกับกฎระเบียบหลายข้อในโรงเรียน ที่บางข้อก็ไม่สมเหตุสมผล ที่บางครั้งก็ถูกบังคับใช้ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นทุกคนอาจจะไม่ได้ยอมรับแต่ก็กลับทำตาม และไม่เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นทั้งสองนี้เลย วันนี้เราจึงขอยกมาเพียงแค่ 1 ประเด็น คือประเด็นที่ว่า “โรงเรียนเป็นของพวกเราทุกคนจริงหรือ”

โรงเรียนเป็นของพวกเราทุกคนจริงหรือ?
ผู้เขียนเองคิดว่าการเป็นเจ้าของจริงๆ นั้นคือเรามีสิทธิในสิ่งๆ นั้นในทุกๆด้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายสถาบันการศึกษา คือ “รูปแบบการเรียนการสอนที่มีคนกำหนด” “รูปแบบแผนการเรียนรู้ที่ถูกกำหนดมาแล้ว” “กฎที่ไม่สมเหตุสมผล” เป็นต้น แล้วทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ใครเป็นคนกำหนด กระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการ หรือใครกันล่ะที่กำหนดขึ้น ?

อ้าว! แล้วสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้ว ถูกวางมาหมดแล้ว แล้วสิทธิ์ของเราล่ะ สิทธิที่เราจะออกกฎเองล่ะ สิทธิที่จะเสนอแผนการเรียนใหม่ สิทธิในการเสนอรูปแบบการสอนใหม่ล่ะ มีไหม?  

หากนำคำถามข้างต้นนี้ไปถามในกลุ่มนักเรียน หลายคนอาจตอบได้เลยว่า “ไม่มี” แล้วถ้ามันไม่มีสิทธิ เรายังสามารถที่จะเรียกว่าโรงเรียนนั้นเป็นของเราได้หรอ ? 

“แล้วหากเรารู้อย่างนี้แล้ว เราควรทำยังไง” 

เชื่อว่าหลายคนรู้ แต่ทำอะไรไม่ได้ เลยเลือกที่จะมองข้ามมันไป แล้วหากทุกคนมองข้ามไปล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นล่ะ? เราก็จะอยู่ในกรอบที่มีคนวางไว้ อยู่ในกรงที่มีกฎเกณฑ์บ้าๆ บอๆ หรือ แล้วอย่างนี้เรายังจะเรียกว่าที่แห่งนี้เป็นของเราได้อยู่หรือ ในเมื่อเราเองยังไม่มีสิทธิออกเสียง ออกความเห็น ไม่มีสิทธิถามด้วยซ้ำในบางเรื่อง  

แม้อาจจะมีสิ่งหนึ่งที่หลายคนเรียกกันและเชื่อว่ามีอยู่ในโรงเรียน คือ “ประชาธิปไตย” นั่นเอง “แล้วประชาธิปไตยมีในโรงเรียนจริงหรอ?” 
เชื่อได้ว่าหลายคนหรืออาจจะทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันคือ “การเลือกสภานักเรียนไง การเลือกหัวหน้าห้องไง การเลือกหัวหน้ากลุ่มไง คือประชาธิปไตย” แล้วประชาธิปไตยมีแค่การเลือกตั้งจริงหรือ 

ขอยกตัวอย่างในประเด็นสภานักเรียน ในโรงเรียนของผู้เขียนนะครับ ใช่ครับสภาเกิดมาจากการเลือกของคนส่วนมาก แต่การที่จะดำเนินนโยบายอะไรนั้นสภาคือกลุ่มคนที่คิดนโยบายขึ้นแล้วนำไปเสนอผู้อำนวยการแล้วผู้ตัดสินว่านโยบายนี้ โครงการนี้ควรทำหรือไม่ ก็คือ “ผู้อำนวยการเพียงคนเดียว” 

เอ๊ะ! การที่การตัดสินใจอยู่ที่คนคนเดียวนี่เราเรียกว่าประชาธิปไตยหรือ? มันคุ้นๆ เหมือนระบอบการปกครองแบบหนึ่งแถวๆ บ้านเลยนะ  

แล้วสิ่งเดียวที่เราคิดว่าเรามีสิทธิ์เลือกมากที่สุดในโรงเรียน นั้นยังถูกชักใยแบบห่างๆ โดยคนที่เรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่ขนาดนี้ เรายังสามารถสบถออกมาได้หรือว่าโรงเรียนนี้เป็นของพวกเรา ในเมื่อยังมีคนที่ใช้สิทธิความเป็นผู้อาวุโสเหนือคนอื่น ใช้สิทธิในตำแหน่งของตัวเอง ใช้สิทธิและอำนาจที่มากไปในการบงการคนอื่นอยู่ เรายังจะสามารถพูดได้หรอว่าโรงเรียนนี้เป็นของพวกเรา 

“โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเรา” หากเป็นบ้านจริงๆ นี่ก็คือบ้านที่เราถูกควบคุมโดยสมบูรณ์แบบ โดนลิดรอนสิทธิในบางเวลา บ้างก็ถูกลดคุณค่าความเป็นคนในบางเวลา โดยทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วนเกิดมาจาก ผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้ที่มีความรู้มากกว่าหรือผู้อาวุโสนั่นเอง 

เชื่อว่านักเรียนหลายคน เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎระเบียบไม่ว่าจะเป็น ทรงผม ถุงเท้า กางเกงหรือกระโปรง และในเมื่อทุกคนตั้งคำถามมาแล้ว เรามีสิทธิถามคำถามดังกล่าวด้วยหรือ? 

ขอยกตัวอย่างโรงเรียนของผู้เขียนนะครับ การลิดรอนสิทธิในโรงเรียนของผู้เขียนนั้นยกตัวอย่างเช่น การทำโทษที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น การกักขังตัวคนที่แต่งชุดพละ (รุ่นเก่า) หรือแต่งกายใดๆ ที่ผู้อาวุโสมองแล้วมันขัดตาขัดใจ ไว้ในห้องกิจการนักเรียนเป็นเวลาครึ่งวัน! แล้วพอพักกลางวันแล้วจึงปล่อยออกมาเรียน

การกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นการลิดรอนสิทธิของนักเรียนหรือไม่? ฝากผู้อ่านคิดในหัวข้อนี้ด้วยนะครับ 

จากการประสบการณ์ตรงที่เพื่อนของผู้เขียนเคยโดนลงโทษแบบนี้ เขาได้เล่าให้ฟังว่า การถูกกักขังในนั้น สิ่งที่ทำได้คือ นั่งเฉยๆ นั่งทำงานค้าง นั่งเล่นโทรศัพท์ ซึ่งเอาจริงๆ การกระทำเหล่านี้ย่อมไม่เกิดประโยชน์แก่ตัวนักเรียนเองเลยด้วยซ้ำ แทนที่จะได้ไปเรียนให้ทันเพื่อนๆ แต่กลับมาถูกกักขังภายในคุกที่มีอุณหภูมิต่ำ แม้เพื่อนของผมจะได้เจรจากับครูในห้องนั้นในการขอมาเรียนได้ แต่สิ่งที่เสียไปคือเวลาในการแสวงหาความรู้ 

การทำโทษแบบนี้มันเกิดประโยชน์จริงหรือ? ทำให้เด็กจดจำจริงๆ หรือ? แล้วการใส่เสื้อตัวเก่ามาโรงเรียนมันทำให้คุณค่าในตัวเราลดลงหรอ? 

ในโรงเรียนที่ผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่า สามารถใช้สิทธิในการตัดสินคนอื่นได้ 

ในโรงเรียนที่ผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่า ใช้สิทธิเหนือคนอื่นได้

อย่างนี้เขาเรียกว่าลิดรอนสิทธิของผู้อื่นใช่หรือไม่? 

หากถามว่าเมื่อรู้แล้วว่าโดนลิดรอนสิทธิ แล้วจะทำยังไงล่ะ ในเมื่อเรามีสิทธิ์คิดแต่ไม่มีสิทธิ์พูด แม้เมื่อเราได้พูดเราก็ไม่สามารถทำมันได้ 

หรือเพราะความจริงแล้วนักเรียนทุกคนมีสิทธิทุกอย่าง แค่ถูกคุกคามโดยผู้ที่มีวัยวุฒิกว่า แล้วอย่างนี้เรายังจะสามารถเรียกโรงเรียนว่าบ้านหลังที่สองได้อยู่หรือ แล้วยังเชื่อได้หรือว่าโรงเรียนเป็นของพวกเราทุกคน 

ในบ้านที่เราถูกกดขี่ข่มเหง บ้านที่เราถูกลิดรอนสิทธิ บ้านที่เราถูกควบคุม เราควรเรียกว่าบ้านหลังที่สอง หรือ “คุกหลังแรก” กันแน่ แล้วคราวนี้เรายังจะสบถออกมาได้อยู่หรือว่าโรงเรียนเป็นของเราทุกคน? ฝากให้คิดด้วยครับ