กล้าที่จะสื่อสาร : ตกผลึกความคิดจากค่ายครูนักสื่อสาร

กล้าที่จะสื่อสาร : ตกผลึกความคิดจากค่ายครูนักสื่อสาร  


ครูนักสื่อสาร

หลายครั้งที่เรามักจะมีเรื่องๆ หนึ่งที่ไม่สามารถที่จะเล่าให้ใครฟังได้ เนื่องจากว่าเราไม่ได้มีความมั่นใจพอว่า สารหรือสิ่งที่เราจะสื่อออกไปนั้นผู้ที่รับฟังเราจะมีความคิดเหมือนเราหรือเปล่า เป็นขวาหรือเป็นซ้าย เป็นเหลืองหรือเป็นแดง ซึ่งในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่สื่อต่างๆ รวมถึงคนในสังคมประเทศนี้ได้ถูกปิดปากไม่ให้สามารถพูดทุกอย่างตามที่เห็น หรือตามที่คิดได้ เนื่องจากความคิดเหล่านั้นถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่แปลกปลอม ถูกทำให้ผิดและไม่ถูกต้อง เราไม่สามารถที่จะอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ด้วยชุดความรู้อื่น แต่ถูกกำหนดด้วยชุดความรู้เดียวกันหมด นั่นหมายถึงสังคมไทยตอนนี้กำลังอยู่ในสภาพที่ขาดเสรีภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการทำสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นว่ามันถูกต้อง แต่ยังรวมไปถึงเสรีภาพในเรื่องของการคิด เมื่อเราคิดไม่ได้ ทำไม่ได้ การสื่อสารความจริงออกไปก็มีความยากลำบากมากขึ้น  




เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมค่ายครูนักสื่อสาร จัดโดยมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในระหว่างวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม 2561 ณ พนาศรมรีสอร์ท ศาลายา จ.นครปฐม ซึ่งการไปค่ายครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น และเห็นภาพชัดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างประชาธิปไตยผ่านการสื่อสาร และก็ได้รู้ถึงสาเหตุว่าทำไมประชาธิปไตยในประเทศของเราถึงไม่เข้มแข็ง มาพูดถึงประเด็นในสิ่งที่ผู้เขียนได้ตกผลึกจากการไปค่ายมาก็คือเรื่อง “หัวใจของการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์” 

ข้อที่ 1 กล้าที่จะสื่อสารภายใต้เงื่อนไขของการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย  
ในสังคมของเราในตอนนี้นั้นเต็มไปด้วยในเรื่องของความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน การที่จะทำให้คนเราสื่อสารกันอย่างเข้าใจและสร้างสรรค์นั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในลำดับแรกคือการสร้างพื้นที่ของการสื่อสารให้มีความปลอดภัย กล่าวคือทำให้พื้นที่ที่มีการสื่อสารเกิดความรู้สึกที่ไว้วางใจกันก่อน ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนกล้าที่จะแสดงตัวตน ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อว่าเป็นแบบไหน ซึ่งเมื่อสังคมมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกก็จะช่วยความคิดในด้านต่างๆ เกิดการปะทะสังสรรค์กัน และจะช่วยให้ชุดความคิดต่างๆ เกิดการถูกตีความ วิพากษ์ถึงที่มาที่ไป ข้อดีข้อเสียของชุดความคิดดังกล่าว 

ข้อที่ 2 กล้าที่จะฟังอย่างเปิดใจ  
ในสังคมของมนุษย์นั้นล้วนแล้วแต่มีความคิดที่หลากหลายและมีความแตกต่างกันออกไปภายใต้ค่านิยม ความเชื่อ ชุดความรู้ต่างๆ ที่คนเรานั้นเลือกที่จะเชื่อถือ เมื่อคนที่มีความหลากหลายมาอยู่ร่วมกัน สื่อสารด้วยกัน ซึ่งเมื่อเราเชื่ออีกอย่างคนอื่นเชื่ออีกอย่าง สิ่งที่เราจะห้ามไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้นั้นก็คงจะเป็นในเรื่องของการมีอคติ ซึ่งอคติก็จะทำให้เรานั้นไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย เกิดการตั้งกำแพงในการสื่อสาร หรืออาจจะมีการดูถูกชุดความคิดของผู้สื่อสารที่มีการใช้ชุดความคิดอีกรูปแบบสื่อสารกับเรา ดังนั้นสิ่งที่เราต้องมีเมื่อมีการสื่อสารในวงสนทนานั้นก็คือ ทักษะการฟังอย่างเปิดใจ โดยใช้การฟังอย่างตั้งใจและใส่ใจต่อคู่สนทนา อย่าใช้ชุดความรู้ของเราเข้าไปตัดสิน ให้พยายามทำความเข้าใจผู้สื่อสารว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ทำไมเขาถึงอยากที่จะทำแบบนั้น การที่เราใช้ใจในการสื่อสารซึ่งกันและกัน ก็ย่อมดีกว่าการใช้ความคิด ซึ่งบางครั้งความคิดของเราก็แฝงไปด้วยอคติที่ติดตามมาด้วย 

ข้อที่ 3 กล้าที่จะยอมรับข้อตกลงที่เกิดขึ้นในกลุ่ม 
ในสังคมประชาธิปไตย เมื่อเกิดปัญหาในสังคมขึ้น สิ่งที่คนในสังคมทำก็มักจะมีการปรึกษาหารือเพื่อหาข้อสรุปหรือวิธีการแก้ไขปัญหามาใช้ ซึ่งเมื่อคนหลายคนที่มีความหลากหลายความคิด ความเชื่อมาอยู่ร่วมกันเพื่อตัดสินใจแก้ไขปัญหา บ้างครั้งมันก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งบ้างครั้งการตัดสินใจเลือกข้อสรุปก็ไม่อาจที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย มันก็จะเกิดข้อถกเถียงที่ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ซึ่งมันเป็นสิ่งที่คนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องยอมรับข้อตกลงที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้ปัญหานั้นไม่เกิดความยืดเยื้อและเดินหน้าต่อไปได้ คนที่เป็นเสียงส่วนน้อยก็ต้องกล้าที่จะยอมรับข้อตกลงที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่นั้นมันเกิดข้อผิดพลาด สิ่งที่ต้องทำก็คือการรับผิดชอบร่วมกัน ถึงแม้ว่าเรานั้นจะไม่ได้คิดเหมือนกับคนส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย เพื่อให้สังคมนั้นได้เดินหน้าต่อไป 

ข้อที่ 4 กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่จากกลุ่มสนทนา 
เรื่องในบางเรื่องนั้นเราอาจจะเป็นได้ทั้งผู้ที่รู้หรือไม่รู้ แต่ในบางครั้งเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะทำให้ความรู้ที่ถูกซ่อนอยู่ได้เปิดเผยตัวตนออกมา เพื่อที่จะให้ชุดความรู้หรือคนคนนั้นได้มีตัวตนและได้แสดงถึงจุดยืนของตนเองว่าคิดแบบไหน บ้างครั้งเราจะเห็นได้ว่า ในวงที่ผู้สนทนานั้นมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สิ่งที่เรามักจะเห็นก็คือการที่ผู้ใหญ่พูดอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในสังคมไทยเป็นสังคมที่มีชนชั้นและยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องของความอาวุโส ซึ่งอาจจะทำให้ความคิดของเด็กนั้นส่งไปไม่ถึง หรือไม่ได้กล้าที่จะแสดงความคิดออกมา เพราะเกรงใจว่าความคิดเราอาจจะไม่ดีพอ ซึ่งสิ่งนั้นสำคัญมากในการสื่อสาร เพราะถ้าหากเรายังใช้ชุดความคิดแบบเดิม หรือยังปล่อยให้ความคิดใดความคิดหนึ่งมีอำนาจในการกำกับการตัดสินใจมากไปสังคมก็จะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลง

จากทั้งสี่ข้อที่ผู้เขียนนั้นได้ตกผลึกความคิดจากการร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปการสื่อสารสร้างสรรค์ ผู้เขียนคิดว่าคงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย หรือถ้าหากการเขียนดังกล่าวมีข้อผิดพลาด หรืออาจจะสื่อสารในทางที่ผิดก็สามารถที่จะร่วมแลกเปลี่ยนกันได้ ผู้เขียนคิดว่าการสื่อสารที่เรานั้นเกิดการยอมรับฟังเหตุผลกันและกัน และความเข้าใจซึ่งกันและกัน จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคม และจะช่วยให้คนในสังคมที่ยังไม่ได้มีพื้นที่ในการสื่อสาร กล้าที่จะสื่อสารและแสดงถึงจุดยืนทางความคิดของตนเองขึ้นได้

#hotspotteacher #ค่ายครูนักสื่อสาร