พลเรียนเสวนา - การศึกษากับการสร้างพลเมือง

กลุ่มพลเรียน Eduzen-Thai
ร่วมกับ ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


จัดการเสวนาเรื่อง "การศึกษากับการสร้างพลเมือง"

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 เวลา 09.30 - 13.00 น.
ณ ห้อง EB 4509 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


คณะวิทยากร
- ดร.วัฒนา อัคคพานิช
นักวิชาการอิสระ Thai Civic Education
- อ.ดร.นันท์นภัส แสงฮอง 
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อ.ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี 
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ดำเนินรายการโดย 
- ธีระพงษ์ ภักดีสาร 
สมาชิกกลุ่มพลเรียน


ประเด็นการเสวนา

1) หลักสูตรกับการสร้างพลเมือง

อ.ดร.นันท์นภัส อธิบายว่าพลเมืองมีหลายกลุ่ม แต่จะเน้นเฉพาะในส่วน ป.1-ม.ต้น จากมุมมองของนักการศึกษา โดยตั้งคำถามว่าหลักสูตรนั้นได้ออกแบบมาเหมาะสมกับวัยวุฒิหรือภูมิหลังของผู้เรียนหรือไม่
โดยเฉพาะผู้เรียนที่เป็นชาติพันธุ์  ผู้พิการ  ผู้เรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ  หรือผู้เรียนที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ แม้หลักสูตรไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเขาแต่เขาก็ต้องเรียน 
อย่างไรก็ตามวิธีการสอนที่สนใจก็คือการสอนในเชิงวิพากษ์อย่างโสเครตีส
ในหลักสูตรนี้เป็นไปได้ไหมที่จะควบรวมเรื่องราวของเขาเหล่านั้นเข้ามาในหลักสูตรเพื่อส่งเสริมสิทธิของกลุ่มคนเหล่านั้น

อ.ปุณิกา อธิบายพร้อมยกตัวอย่างในประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ควรมีหลักสูตรบางอย่างที่ต้องคำนึงถึงลักษณะของผู้เรียน มีปรากฏการณ์หนึ่งคือมีโรงเรียนในเขตอำเภอเมืองลำปาง ที่เด็กต้องเรียนผ่านดาวเทียมและเด็กเหล่านั้นก็เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ฉะนั้นในอนาคตข้างหน้าเด็กประเภทนี้ก็ต้องมีจำนวนมากขึ้นด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นครูทั้งหลายก็จำเป็นต้องคิดเพื่อพัฒนาหลักสูตร พัฒนาสื่อการสอนสำหรับพวกเขาเหล่านั้นให้มากขึ้น จะไปทอดทิ้งพวกเขาตามยถากรรมนั้นไม่ได้

ดร.วัฒนา กล่าวว่าได้มีโอกาสอ่านงานของชาวต่างชาติ 2 ท่าน คือ เวสท์ แฮมเมอร์ กับ คานส์ โดยส่วนตัวคิดว่าทั้งสองอธิบายได้น่าสนใจมาก คือ เขาค้นพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ทั่วโลกที่มีการสอนหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการสอนเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบเท่านั้นเอง คือ ความรับผิดชอบต่อชุมชน ตั้งใจทำงาน จ่ายภาษี เชื่อฟังเคารพกฎหมาย ไปบริจาคเลือด ฯลฯ ซึ่งการสอนเหล่านี้บางทีมันไม่ได้ไปแก้ไขรากเหง้าของปัญหา 

แต่สิ่งดีคือการสอนให้เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม คือ จะไม่ได้ทำเป็นการส่วนตัว แต่มีกลุ่ม มีองค์กรที่จะเคลื่อนไหวต่อยอดอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม เวสท์ แฮมเมอร์ ก็เสนอว่า ยังไม่พอ โดยเขาอยากจะให้การสอนหน้าที่พลเมืองทั่วโลกพัฒนาไปอีกขั้น คือ ควรจะไปตั้งคำถามว่ารากเหง้า ต้นตอของปัญหาไม่ว่าจะเรื่องชนกลุ่มน้อย LGBT คนชายขอบต่างๆ เข้าไปตั้งคำถามว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร ไม่ใช่แค่บริจาคเสื้อผ้า ผ้าห่มกันหนาวอะไรให้เขา แล้วปัญหามันก็ไม่เคยหมดไปเสียที คือเขาอยากให้คิดวิพากษ์ถึงโครงสร้างทางสังคม ความยุติธรรมที่ทุกคนได้รับว่าเป็นอย่างไร

2) การสร้างพลเมืองกับกิจกรรมนักศึกษา

ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ตั้งประเด็นคำถามว่า เราจะสร้างพลเมืองได้อย่างไร ในเมื่อตั้งแต่จุกเริ่มแรกคือการรับน้องยังเต็มไปด้วยอำนาจนิยมที่กดทับ ไม่เปิดโอกาสให้ได้เห็นต่าง ให้ได้คิดต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นการว๊าก การลงโทษที่ละมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง หรือการประชุมเชียร์ต่างๆ

ดร.วัฒนา อธิบายว่าปัญหาคือการศึกษาบ้านเราสอนให้เด็กคิดเป็นยังน้อยเกินไป เพราะถ้ามากพอเรื่องเหล่านั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน

อ.ปุณิกา อธิบายว่า คิดว่าระบบไหนที่ไม่ใช่ ตนในฐานะอาจารย์ก็จะเริ่มคุยทำความเข้าใจกับนักศึกษา อย่างการสร้างพลเมือง ก็จะคุยกับนักศึกษาในวิชา TU100 (พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม) ว่าจะสอนจะเรียนไปเพื่ออะไร ในเมื่อยังบอกไม่ได้ว่าผู้สอนมีความเป็นพลเมืองมากแค่ไหน อย่างเรื่องการรับน้อง ควรจะมีการตั้งคำถามว่า การรับน้องหรือกิจกรรมนักศึกษานั้นได้ตอบโจทย์การสร้างพลเมืองแล้วหรือไม่ เพราะบางครั้งกิจกรรมนักศึกษากกลายเป็นระบบที่กดทับมนุษย์ อย่างกรณีที่จะต้องมีการสอนน้องร้องเพลง มีพี่ระเบียบ พี่วินัย พี่อะไรต่างๆ ตนก็คุยกับนักศึกษาว่าขอให้มีการตัดระบบพี่วินัยออกไปโดยเริ่มคุยจากหัวหน้านักศึกษา เพื่อให้เข้าใจว่าในสิ่งที่ตนทำ ถ้าเป็นผู้ถูกกระทำเองจะพอใจไหม โดยเสนอว่าควรเปลี่ยนชื่อเรียกระบบพี่วินัย ซึ่งการเปลี่ยนชื่อจะนำไปสู่การเริ่มเปลี่ยนบทบาท เช่น เป็นพี่โค้ชชิ่ง เป็นพี่เอ็มพาเวอร์ ต่างๆ แล้วก็ใช้กระบวนการแบบกัลยาณมิตรกับน้องในการดูแลช่วยเหลือกัน

ถ้ายึดมั่นถือมั่นว่ากิจกรรมรับน้องมันเป็นกิจกรรมที่มีความหมายความสำคัญ กิจกรรมประเภทการปะแป้งทาสี ลอดยาง ไต่เชือกอะไรต่างๆ ที่ทำซ้ำๆ มา มันไม่ได้สะท้อนต่อสิ่งที่เรียนเลย ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะสื่อไปถึงอัตลักษณ์ของคณะหรือไม่ เช่น ถ้าเรียนศึกษาศาสตร์ มันควรสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นครูสมัยใหม่ในยุคศตวรรษที่ 21 หรือไม่  หรือถ้าเรียนสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มันควรสะท้อนถึงความเป็นนักสังคมสงเคราะห์หรือไม่ ฉะนั้นเราควรออกแบบความคิดใหม่ๆ มันก็จะนำไปสู่การคิดที่ว่ากระบวนการรับน้องทั้งพี่ทั้งน้องทั้งเพื่อนจะได้เข้าใจร่วมกันว่าการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ หรือการรับเพื่อนก็ดี มันเป็นกระบวนการสื่อสารความเป็นมนุษย์ที่ดีต่อกัน ไม่ต้องมาระแวงกันและกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนอำนาจอะไรมากดทับ แล้วก็จะได้ตระหนักว่าระบบการรับน้องเก่าๆ ที่ดำเนินมานั้นไม่ดีจริง เพราะถ้าดีจริงทำไมคนที่ไม่รับน้องจึงถูกทำให้หายไปจากสังคม ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง

กิจกรรมนักศึกษาที่สร้างพลเมืองต้องตอบโจทย์
1.คุณได้อะไรกับการที่คุณเข้าไปทำ คุณรู้สึกอย่างไร
2.คุณเข้าไปทำกับโรงเรียนหรือชุมชน เขาได้อะไรจากสิ่งที่คุณทำ (คำตอบที่ว่า อ๋อ เขาได้อาคาร ได้บ้าน มันใช่คำตอบหรือไม่?) ตนบอกกับนักศึกษาตลอดว่าถ้าจะทำ มันไม่ใช่สำรวจแล้วจบ แต่ต้องทำกระบวนการกับชาวบ้าน พูดคุยกับชาวบ้าน หรือว่าชาวบ้านจะทำอะไร เน้นไปถึงการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้ร่วมทำร่วมสร้างกับเรา ชาวบ้านและเราจะได้มีความรู้สึกร่วมกัน และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว เราก็ต้องมีกระบวนการติดตามผลต่อ ถ้าเราทำได้ มันก็จะเกิดการเรียนรู้การสร้างพลเมืองในตัวเราได้ และก็เกิดการสร้างความเป็นพลเมืองให้แก่ชาวบ้านได้

ดร.วัฒนา กล่าวว่า จอห์น ดิวอี้ บอกไว้ว่า learning by doing จริงๆ แล้วการจัดการศึกษาควรจะเน้นไปที่ learning แต่ตนห่วงว่าการศึกษาบ้านเราทุกวันนี้ที่เน้นไปที่ doing เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่ๆ ต่างๆ หรือการโชว์ว่าเด็กทั้งโรงเรียนท่องกล่อนได้หมด แต่ถ้าตนไปสอบถามเด็กรายคนจริงๆ ว่าได้เรียนรู้หรือไม่ ปรากฎว่าเด็กไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย นับว่าน่าเป็นห่วงมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ตนเคยสอน ก็เช่นเดียวกัน โดยยกตัวอย่างว่า นักศึกษาที่ชอบไปออกค่ายกัน กลับมาจะได้ความคิดหลักๆ คือได้ไปช่วยแล้วนะ ซึ่งมันก็จบเพราะไม่ได้ทำต่อจากนี้ และแท้จริงแล้วการไปออกค่าย 3 วัน 7 วัน ไม่ได้หมายความว่าจะได้ไปพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นสักเท่าไหร่ ดังนั้นการเน้นลงมือทำไม่พอ ต้องเน้นการเรียนรู้ให้มากขึ้นเป็นสำคัญด้วย